วิสาหกิจชุมชนจัดโครงการเพาะและแปรรูปเห็ดให้ชุมชนสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด-19 อย่างยั่งยืน

เชียงใหม่ เกษตรกรรม

สืบเนื่องจากผลกระทบจากมาตรการปิดกิจการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาด้านการป้องกันและควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมมีประชาชนที่ประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น เกษตรกร รับจ้างทั่วไป รับราชการ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ต้องประสบปัญหาและประกอบอาชีพลำบากขึ้น 

โดยการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงักและไร้ความคล่องตัว เนื่องจากประชาชนไม่สามารถออกนอกบ้านได้ ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพตามเดิมได้อีกเช่นเคย ซึ่งเป็นสาเหตุให้จำนวนประชาชนที่มีรายได้ลดลงเพิ่มขึ้น ในขณะที่บางกลุ่มถึงขั้นตกงานและขาดรายได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน 

ด้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดบ้านสุภาวัฒน์ สันกับตองใต้ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบริหารกิจการอยู่ภายในพื้นที่ชุมชนตำบลสารภีอยู่แล้ว เล็งเห็นว่า อาชีพการเพาะเห็ดและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด ที่กลุ่มวิสาหกิจฯ จัดทำอยู่นั้น สามารถนำมาสร้างเป็นอาชีพใหม่ให้กับคนในพื้นที่ได้ เนื่องจากการเพาะเห็ดสามารถทำเองที่บ้านได้ ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ 

และด้วยความเข้าใจในสถานการณ์คับขันที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ว่าในสภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไร้ความคล่องตัวเช่นนี้ ประชาชนในชุมชนตำบลสารภีล้วนขาดแคลนทุนทรัพย์สำหรับการดำรงชีวิตและทุนทรัพย์สำหรับการประกอบอาชีพ จึงไม่สามารถที่จะเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่ อย่างการเพาะเห็ดและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดได้ด้วยตัวเอง เพราะขาดกำลังทรัพย์สำหรับการเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ ซึ่งมีต้นทุนเริ่มต้นพอสมควร

ด้วยสาเหตุนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดบ้านสุภาวัฒน์ สันกับตองใต้ จึงวางแผนมอบปัจจัยขั้นพื้นฐานสำหรับการเริ่มต้นอาชีพการเพาะเห็ด ควบคู่ไปกับการจัดการอบรมเสริมองค์ความรู้ในเรื่องของการเพาะเห็ดและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด ภายใต้โครงการ “พัฒนาทักษะอาชีพเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์” เพื่อสนับสนุนประชาชนในตำบลสารภี 

ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนในชุมชนตำบลสารภีจำนวน 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1, หมู่ 2, หมู่ 3, หมู่ 4, หมู่ 5, หมู่ 6, หมู่ 7, หมู่ 8, หมู่ 9 และหมู่ 10 รวมทั้งสิ้น 100 คน โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายโดยอาศัยข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านประจำแต่ละหมู่บ้าน ว่าครัวเรือนใดได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุด

ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดบ้านสุภาวัฒน์ สันกับตองใต้ คาดหวังว่า โครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะจากก้อนเชื้อเห็ดจำนวนเพียง 1 ก้อน สามารถนำไปเพาะจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 5-7 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและการดูแล) ซึ่งกลุ่มเป้าหมายสามารถเก็บผลผลิตไปจำหน่ายโดยตรง หรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยตัวเองก็ได้

ด้วยประสบการณ์ในฐานะกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดบ้านสุภาวัฒน์ สันกับตองใต้ มีความพร้อมทั้งในด้านของเครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ประกอบกับมีเครือข่ายที่ร่วมมือกันอยู่มากมาย อาทิ กศน. อำเภอสารภี, คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่, และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง

นอกจากการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเพาะเห็ดและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดแล้ว แผนการดำเนินงานของโครงการยังรวมไปถึง การรณรงค์เพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 และการเสริมองค์ความรู้เรื่องระบบตลาดออนไลน์ ซึ่งถือเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ประชาชนในประเทศต้องพร้อมใจกันอยู่ติดบ้าน ทำให้โครงการดังกล่าวเป็นการช่วยสนับสนุนประชาชนในชุมชนตำบลสารภี ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะจากก้อนเชื้อเห็ดจำนวนเพียง 1 ก้อน สามารถนำไปเพาะจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 5-7 ครั้ง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดบ้านสุภาวัฒน์ สันกับตองใต้ จังหวัดเชียงใหม่

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายรัชกาล สุภาวัฒน์
โทร: 061-9052224

เป้าประสงค์โครงการ

ผู้ว่างงานจะได้มีความรู้ สามารถในการเพาะเลี้ยงเห็ด มีงานทำเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว สามารถที่จะยึดถือเป็นอาชีพได้ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ร่วมเป็นตัวแทนในการพัฒนาประเทศชาติ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส