คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จับคู่บัณฑิตพี่เลี้ยงกับกลุ่มเป้าหมาย ช่วยพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในจังหวัด
วิสาหกิจชุมชนเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2548 จากการที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อสร้างธุรกิจชุมชน นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้แข็งแรง โดยมีพื้นฐานในการทำธุรกิจมาจากการนำความรู้ ภูมิปัญญา และทรัพยากรท้องถิ่นมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้ชุมชนมีรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศ ที่สกลนคร วิสาหะกิจชุมชนมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การแปรรูปปลาร้า ข้าวแต๋น น้ำผลไม้ ไปจนถึงการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ เป็นต้น
ในการลงพื้นที่ของ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทำให้ทราบว่าในปัจจุบันวิสาหกิจจังหวัดสกลนคร ชุมชนประสบปัญหาในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด การขาดความพร้อมในด้านการแข่งขันทางด้านการค้า และเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ที่ตลาด OTOP หรือห้างสรรพสินค้า เนื่องจากปิดทำการ จนหลายวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
จากทั้งปัญหาดั้งเดิมที่มีอยู่ก่อนในการประกอบวิสาหกิจชุมชนและปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทาง คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จึงจัดตั้ง “โครงการการยกระดับผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนโดยการจับคู่นักการตลาดรุ่นใหม่ด้วยนวัตกรรมชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้และความสุขของชุมชน” โดยมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน เพิ่มมูลค่า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มช่องทางการค้าขาย นำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพให้สมาชิกในชุมชน เพิ่มรายได้ ให้กลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง
โดยทางโครงการฯ จะดำเนินการผ่านการจับคู่นักการตลาดรุ่นใหม่ (บัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร) กับวิสาหกิจชุมชนเป้าหมาย ให้มาร่วมกันพัฒนานวัตกรรมการสร้างและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ร่วมกัน บัณฑิตจะนำความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับวิสาหกิจชุมชน ให้คำแนะนำเปรียบเสมือนพี่เลี้ยง โดยทำงานควบคู่กันจนกว่าทางวิสาหกิจจะมีความแข็งแรงในทางธุรกิจ พร้อมสำหรับแข่งขันมากพอ โดยจะมีการจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายตามปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนี้
- กลุ่มรักษ์ดีคลองไผ่ ประกอบธุรกิจผลิตถั่วเป็นหลัก ได้รับผลกระทบจากช่องทางการตลาดที่ถูกปิดจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหากไม่ได้รับการพัฒนาอาจกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่อ่อนแอ โครงการจึงมีแผนในการพัฒนาในการเพิ่มช่องทางการขายโดยเฉพาะในทางออนไลน์
- วิสาหกิจชุมชนปลาแปรรูปบ้านท่าวัดเหนือ ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารปลาร้า ประสบปัญหาในเรื่องของต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ที่มีราคาแพงและไม่สามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ได้นานเท่าที่ควร โครงการจึงมีแผนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มช่องทางการขายเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่วิสาหกิจ
- กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่บ้านน้ำพุ ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ ประสบปัญหาผลิตสินค้าไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โครงการจึงมีแผนในการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นหลักและเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ในตลาดออนไลน์
- กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านคลองไผ่พัฒนา ประกอบธุรกิจข้าวแต๋น จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ตลาดจำหน่ายสินค้าปิดตัวลง โครงการฯ จึงมีแผนการในการลดต้นทุนเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำของเสียจากการผลิตคือ เศษข้าวแต๋น นำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ให้ตอบสนองต่อตลาดในปัจจุบัน และเสริมการขายในตลาดออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปน้ำผลไม้เหล่าเหนือ ประกอบธุรกิจการผลิตน้ำหมากเม่า จากการศึกษาพบว่าเป็นการผลิตที่มีต้นทุนสูง โครงการฯ จึงมีแผนการที่จะสร้างรายได้เพิ่มด้วยการนำของเหลือจำพวก เศษหมากเมา มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จะช่วยให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น
- วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านทำน้ำยาเอนกประสงค์ ประกอบธุรกิจการทำสบู่เป็นหลัก จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ตลาดจำหน่ายสินค้าปิดตัวลง โครงการฯ จึงมีแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มประสิทธิภาพทางการแข่งขัน
การประกบคู่กันของนักการตลาดรุ่นใหม่กับวิสาหะกิจชุมชน จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างตรงจุดไม่ว่าจะเป็นในด้านการตลาด การออกแบบบรรจุภัณฑ์ วิธีการลดต้นทุน การเพิ่มผลิตภัณฑ์จากของเหลือ เพื่อทำให้วิสาหกิจชุมชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง และนำไปสู่การขับเคลื่อนของเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด
ในปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนประสบปัญหาในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด การขาดความพร้อมในด้านการแข่งขันทางด้านการค้า และเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ที่ตลาด OTOP หรือห้างสรรพสินค้า
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การยกระดับผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนโดยการจับคู่นักการตลาดรุ่นใหม่ด้วยนวัตกรรมชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างรายได้และความสุขของชุมชน
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- ศึกษา วิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ใหม่ของวิสาหกิจชุมชนโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่า และสามารถแข่งขันได้ในตลาด
- การตลาดที่ทันสมัย ช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ สร้างตัวแทนจำหน่าย โดยระบบพี่เลี้ยงดูแลจนเกิดความยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน
- สร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่มาจากการเรียนรู้การมีส่วนร่วม ระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัย ถ่ายทอดความรู้ รวมถึงการทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้กับวิสาหกิจชุมชน
4. สร้างงานสร้างอาชีพให้สมาชิกในชุมชนและเพิ่มรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน เป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง มีความสุข ในวิถีชีวิตเดิมของชุมชน