วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภูจัดโครงการสร้างโอกาส สร้างทักษะอาชีพ เพื่อให้ผู้ต้องขังในเรือนจำหนองบัวลำภู ป้องกันการทำผิดซ้ำ

หนองบัวลำภู งานหัตถกรรมและฝีมือ

จากการสำรวจผู้ต้องขังในเรือนจำพบว่า ก่อนที่พวกเขาจะถูกต้องโทษ พวกเขานั้นมีสถานภาพทางสังคมที่ยากลำบาก มีฐานะยากจน มีรายได้ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ ผลของการที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา ทำให้มีโอกาสกระทำความผิดในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่ากลุ่มอื่น ส่งผลให้เมื่อพวกเขากระทำผิดและกลายเป็นผู้ต้องขัง พวกเขาต้องพบกับความเครียด ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองและขาดโอกาสในการสร้างรายได้ ด้วยเหตุนี้เรือนจำแต่ละที่จึงต้องมีกิจกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาผู้ต้องขัง

อย่างเช่นเรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ต้องหากิจกรรมพัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังฝึกระหว่างต้องโทษ เพื่อหารายได้และมีทักษะอาชีพติดตัวไว้ใช้ในอนาคตได้ โดยเรือนจำฯ ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู สถาบันจัดการศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้ตามความต้องการของชุมชน เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้และสร้างชุมชนเข้มแข็ง เน้นการพัฒนาคนทุกช่วงวัยรวมถึงคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา จัดตั้ง ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภูเพื่อให้ผู้ต้องขังมีความรู้และทักษะในการนำของที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาผลิตขายเพื่อสร้างรายได้ตั้งแต่อยู่ในเรือนจำและเมื่อพ้นโทษก็จะมีทุนตั้งต้นควบคู่กับการมีความรู้นำไปพัฒนาชีวิตของตัวเองและครอบครัวได้

จากความตั้งใจที่ต้องการการสร้างโอกาสเพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ โครงการฯ จึงได้นำองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวพวกเขามาออกแบบเป็นหลักสูตรการสร้างอาชีพทั้งหมด 6 หลักสูตรผ่านการนำอัตลักษณ์ดั้งเดิมท้องถิ่นของจังหวัดหนองบัวลำภูมาใช้ ได้แก่ การผลิตไม้กวาดดอกหญ้าจิ๋ว, การผลิตไม้กวาดทางมะพร้าวจิ๋ว, การผลิตพวงกุญแจไม้กวาดดอกหญ้า, การผลิตพวงกุญแจไม้กวาดทางมะพร้าว, การผลิตพวงกุญแจฉลามไฮโบดอนท์และการผลิตกระเป๋าหอยหิน 

โดยกลุ่มเป้าหมายจะได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ รวมกับความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะหากผู้บริโภครู้ว่าว่าเป็นฝีมือของชาวเรือนจำ ก็จะส่งผลให้เกิดความต้องการสนับสนุนผ่านช่องทางการขายเดิมของทางเรือนจำ ได้แก่ ร้านกาแฟ ซึ่งเป็นร้านค้าที่เปิดให้ผู้ต้องหาได้มาใช้บริการระหว่างรอเยี่ยมผู้ต้องหา อีกทั้งทางโครงการฯ ยังได้ติดต่อช่องทางการขายอื่น ๆ เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ตลาดในงานสำคัญของจังหวัด หรือช่องทางตลาดออนไลน์ที่เรือนจำฯ ได้จัดทำไว้แล้ว

เพราะสิ่งที่โครงการฯ มุ่งหวัง ไม่ใช่เพียงการที่ให้ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพ มีทักษะติดตัวแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิใจในตัวเองในการใช้ชีวิตต่อไปบนสังคมแห่งความเป็นจริงที่ผู้ต้องขังต้องกลับไปเผชิญอีกครั้งหลังจากออกจากเรือนจำ รวมถึงทางโครงการฯ ยังคาดหวังว่ากลุ่มเป้าหมายจะสามารถเป็นแกนนำสำคัญเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับรุ่นถัดไป 

อย่างไรก็ดี ผลจากการทำกิจกรรมนอกเหนือจากโครงการฯ ที่ผ่านมา ทางโครงการพบว่าหลังจากที่ผู้ต้องขังได้ร่วมกิจกรรมนั้นมีสภาพจิตใจดีขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ อยากกลับตัวเป็นคนที่ดีขึ้น รอโอกาสที่จะได้รับการพ้นโทษเพื่อไปปรับปรุงชีวิตให้มีคุณภาพและไม่อยากกระทำผิดซ้ำอีก และเมื่อพวกเขามีเป้าหมาย ก็อาจเป็นการการันตีได้ว่าในอนาคตพวกจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความต้องการหาช่องทางสร้างรายได้อย่างสุจริตและได้รับการยอมรับจากคนใกล้ตัว

เพราะสิ่งที่โครงการฯ มุ่งหวังไม่ใช่เพียงการที่ให้ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพ มีทักษะติดตัวแต่เพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิใจในตัวเองในการใช้ชีวิตต่อไปบนสังคมแห่งความเป็นจริงที่ผู้ต้องขังต้องกลับไปเผชิญอีกครั้ง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะอาชีพผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภู

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู

จังหวัด

หนองบัวลำภู

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสายศิลป์ สายืน
โทร: 08 1975 7876

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้ต้องขังมีองค์ความรู้และทักษะในการผลิตปฏิบัติการผลิตไม้กวาดดอกหญ้าจิ๋ว ไม้กวาดทางมะพร้าวจิ๋ว พวงกุญแจไม้กวาดดอกหญ้า พวงกุญแจไม้กวาดทางมะพร้าว พวงกุญแจฉลามไฮโบดอนท์ และกระเป๋าหอยหิน 
  2. ผู้ต้องขังมีความภาคภูมิใจในการสร้างรายได้ระหว่างอยู่ในเรือนจำ 
  3. ผู้ต้องขังสืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้
  4. ผู้ต้องขังมีรายได้ระหว่างอยู่ในเรือนจำจังหวัดหนองบัวลำภู

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส