สำนักงานพัฒนาชุมชนเปิดโครงการฝึกอบรบการทำไหมมัดหมี่ในอำเภอจัตุรัส เพื่อสืบสานภูมิปัญญา ‘ผ้าชัยภูมิ’
ผ้าไหมมัดหมี่ ของดีเมืองชัยภูมิ เป็นที่เล่าขานมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ จุดเริ่มต้นจากที่ ‘พระยาภักดีชุมพล (แล)’ เจ้าเมืองชัยภูมิซึ่งเป็นชาวเวียงจันทร์ต้องส่งเครื่องบรรณาการถวายไปยังพระนคร (กรุงเทพฯ) และเมืองหลวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่งผลให้ ‘ผ้าไหม’ กลายเป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการชิ้นสำคัญ และสืบทอดต่อกันมาเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านแถบนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ความโด่งดังของผ้าไหมมัดหมี่ยังรวมไปถึงกระบวนการปลูกหม่อน ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงไหม สาวไหม และเตรียมเส้นไหม หรือการออกแบบลายผ้า ส่งผลให้จังหวัดชัยภูมิมีลายผ้าโบราณที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมากกว่า 539 ลาย และพบผ้าบางชิ้นที่มีอายุถึง 200 ปี
ทว่านับวันการทอผ้าด้วยมือแบบโบราณกลายเป็นวิถีที่ห่างหายไปจากผู้คนและชุมชน เพราะขาดคนรุ่นหลังสืบสานต่อ ผ้าทอกลายเป็นเรื่องของคนยุคเก่าและล้าสมัย ทั้งที่ตลาดผ้ายังให้ความสนใจ ผ้ามัดหมี่ยังเป็นที่ต้องการของนักสะสม รวมถึงนักท่องเที่ยว
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองบัวบาน ตำบลส้มป่อย ตำบลบ้านกอก และตำบลหนองบัวใหญ่ เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าขึ้นมา ทั้งยังเล็งเห็นว่าการทอผ้ามัดหมี่สามารถเป็นช่องทางสร้างอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้แก่แรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาของจังหวัด ที่มีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชัยภูมิด้านการพัฒนาสิ่งทอผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปเพื่อเพิ่มและสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ การพัฒนาระบบตลาดและประชาสัมพันธ์ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วย
พร้อมกันนั้น โครงการฯ ยังได้ร่วมทำงานกับโครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และ สำนักงานพัฒนาจังหวัดชัยภูมิ ที่เข้ามาช่วยให้ความรู้และให้แนวคิดเกี่ยวกับการเลือกลวดลายผ้าเพื่อวางหลักสูตรการฝึกอบรมการทอผ้าไหมแก่กลุ่มเป้าหมาย จนออกมาเป็นแนวทางเรียนรู้การทอผ้า ประกอบด้วย 3 ลาย ได้แก่ ผ้าทอลายพื้นหรือลายขัด ผ้าทอลายน้ำไหล และผ้ามัดหมี่ข้อ
ทั้งนี้หลักสูตรการฝึกอบรมการทอผ้าไหมในโครงการ แบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็น 2 กลุ่ม ตามทำเลที่ตั้งของพื้นที่ ตำบลส้มป่อยจัดฐานการเรียนรู้รวมกับบ้านหนองบัวบาน ส่วนตำบลบ้านกอกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุจัดกิจกรรมรวมกับตำบลมะเกลือ โดยกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่ม ได้เรียนรู้ขั้นตอนการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ตั้งแต่กระบวนการมัดหมี่ มัดย้อม การทอผ้าไหมตามขนาดมาตรฐาน การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้วยสื่อออนไลน์ หรือช่องทางการขายสินค้าออนไลน์อย่าง Shopee และ Lazada เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของกลุ่มเข้าตาและเข้าถึงผู้ซื้อในวงกว้างมากขึ้น
จากการรวมกลุ่มเรียนรู้ของผ้าทอในโครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ผ้าไหมของกลุ่มเป็นที่รู้จักในจังหวัดมากขึ้น และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อรับรองมาตรฐานคุณภาพและการันตีถึงความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ และมูลค่าให้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต
แม้โครงการได้สิ้นสุดลงหลังจากการฝึกฝนอบรบเสร็จสิ้นแล้ว แต่การดำเนินงานของกลุ่มฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อันสะท้อนให้เห็นว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่เคยลดทอดคุณค่าลงไปตามกาลเวลา หากแต่ผู้คนในบางยุคสมัยอาจจะมองข้ามไป แต่เมื่อใดที่มีบุคคลหรือหน่วยงานเข้าไปปัดฝุ่นและหยิบมานำเสนอใหม่ เมื่อนั้นภูมิปัญญาดั้งเดิมก็จะกลับมาสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ที่มองเห็นอีกครั้ง ดั่งเช่นที่โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าฯ ได้จุดประกายให้กับผู้คนในชุมชนอำเภอจัตุรัส
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ และผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาลวดลายผ้าไหม พร้อมทั้งเป็นต้นแบบในการส่งเสริมอาชีพผู้ด้อยโอกาสของอำเภอจัตุรัส และก่อให้เกิดรายได้