สำนักงานพัฒนาชุมชนเปิดโครงการฝึกอบรบการทำไหมมัดหมี่ในอำเภอจัตุรัส เพื่อสืบสานภูมิปัญญา ‘ผ้าชัยภูมิ’
จังหวัดชัยภูมินับว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ผลิต ‘ผ้าไหมทอ’ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนกลายเป็น ‘จุดขาย’ อย่างหนึ่งของจังหวัด ซึ่งจุดขายนี้เอง ที่ล่าสุดได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาจังหวัดชัยภูมิปีพ.ศ. 2561-2564 ที่วางเอาไว้ว่าจะต้องมีการพัฒนาสิ่งทอชุมชนโดยจะต้องยกระดับทั้งด้านของประสิทธิภาพการผลิต วัตถุดิบ และการสร้างมูลค่าเพิ่ม
เมื่อมีแผน ก็ต้องมีหน่วยงานที่ตอบรับเพื่อสานต่อนโยบาย สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาครั้งนี้ เนื่องจากเป็นองค์กรที่ทำงานอยู่ในชุมชนอำเภอจัตุรัส ซึ่งรู้จักปัญหาและต้นทุนของพื้นที่เป็นอย่างดี
ในปัจจุบัน สถานการณ์แรงงานทอผ้าในอำเภอจัตุรัสนั้นกำลังขาดบุคลากรที่เข้ามาสืบสานภูมิปัญญา เนื่องจากกลุ่มคนวัยแรงงานรุ่นใหม่ๆ จำเป็นออกไปทำงานนอกพื้นที่ ‘โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น’ จึงได้เกิดขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ผลักดันให้เกิดแรงงานฝีมือรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยกันสืบสานอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่มีอยู่
กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้จะได้รับการคัดเลือกมาจากพื้นที่ใน 4 ตำบลของอำเภอจัตุรัสคือ ตำบลหนองบัวบาน ตำบลส้มป่อย ตำบลบ้านกอก และตำบลหนองบัวใหญ่ ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกนั้นจะอิงจากกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอย่าง แรงงานนอกระบบจำนวน 20 คน ผู้ว่างงานจำนวน 20 คน และผู้สูงอายุจำนวน 10 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน เพื่อให้มั่นใจว่าองค์ความรู้จากโครงการจะสร้างประโยชน์ให้กับคนกลุ่มนี้ได้
แนวทางการพัฒนาทักษะของโครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จะเริ่มจากการระดมสมองเพื่อวางแนวทางพัฒนาร่วมกัน จากนั้นจึงเป็นส่วนของการฝึกอบรมกระบวนการมัดหมี่ ย้อมหมี่ และการทอผ้าไหมตามมาตรฐานสากล เมื่อเรียนจบขั้นพื้นฐานเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นในส่วนของการพัฒนาลวดลายที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่า ไปจนถึงความรู้ปลายน้ำอย่างการหาช่องทางจัดจำหน่ายที่ในปัจจุบันมีหลากหลาย เช่น พื้นที่ออนไลน์ ร้านค้า OTOP เป็นต้น
เป้าหมายสุดท้ายของโครงการคือการพัฒนากลุ่มคนด้อยโอกาสกลุ่มนี้ให้มีทักษะการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ จนสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และลวดลายจนเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถสร้างกลุ่มลูกค้าหรือหาช่องทางการขายที่ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง พร้อมๆ กับการอนุรักษณ์ภูมิปัญญาการทอผ้าซึ่งสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นในจังหวัดชัยภูมิ จึงนับว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่เปิดโอกาสและเข้าถึงกลุ่มประชากรในหน่วยย่อยอย่างระดับชุมชน ที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนาในภาพใหญ่ระดับจังหวัด
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ และผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาลวดลายผ้าไหม พร้อมทั้งเป็นต้นแบบในการส่งเสริมอาชีพผู้ด้อยโอกาสของอำเภอจัตุรัส และก่อให้เกิดรายได้