กลุ่มพัฒนาสตรีบ้านแดง ดึงกลุ่มแรงงานด้อยโอกาสในชุมชนมาต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากก แก้ปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน

อุบลราชธานี งานหัตถกรรมและฝีมือ

‘เสื่อกกบ้านแดง’ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี แต่ใครจะรู้ว่า ปัจจุบัน เสื่อกกบ้านแดงกำลังประสบปัญหาเรื่องคุณภาพเสื่อ เพราะมาตรฐานการผลิตแตกต่างกัน คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดง จึงผลักดันโครงการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของเสื่อกก ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานีขึ้น เพื่อพัฒนามาตรฐานเสื่อกกบ้านแดง และใช้ ‘เสื่อกก’ เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชน

สีดา พิทักษา ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดง อธิบายว่า ในระยะหลัง เสื่อกกบ้านแดงเริ่มถูกตั้งคำถามจากพ่อค้าคนกลาง ถึงขนาดและมาตรฐานที่ไม่เหมือนกันของเสื่อแต่ละผืน เนื่องจากชาวบ้านยังทอเสื่อกันตามความเคยชิน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ ย่อมไม่เกิดผลดีในระยะยาว โดยวางกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ผู้ที่ขาดโอกาสอย่างแท้จริง

“หลักคิดสำคัญที่พวกเรายึดถือมาตลอด คือเราต้อง ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เราประชุมร่วมกันว่าเราต้องกระจายโอกาสที่ กสศ. มอบให้กับพื้นที่ของเราไปสู่คนที่ยากลำบากอย่างแท้จริง ฉะนั้น ตอนลงพื้นที่ ทีมงานทุกคนจึงช่วยกันหาข้อมูล พูดคุย ซักถาม เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือคนพิการทางสมอง ซึ่งมีอยู่ในชุมชน เพราะความจริงแล้ว เขาสามารถทำงานที่ไม่ซับซ้อนได้ เช่น รับจ้างตัดเศษด้ายเสื่อกก ในราคาผืนละ 25 บาท เป็นต้น” สีดากล่าว 

ด้วยกระบวนการลงพื้นที่อย่างเข้มข้นเช่นนี้ ทำให้คณะทำงานสามารถคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ 150 คน ซึ่งตรงตามเกณฑ์ที่ต้องการทั้งสิ้น นั่นคือเป็นผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้พิการ และแรงงานนอกระบบ จากนั้นจึงออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ โดยมีตัวแทนจาก กศน. ตระการพืชผล, โรงเรียนบ้านทม, และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาร่วมระดมความคิด 

เมื่อกลุ่มเป้าหมายเห็นภาพของโครงการชัดเจนขึ้น กระบวนการต่อมาก็คือ การเติมไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการพากลุ่มเป้าหมายไปศึกษาดูงานที่หมู่บ้านนาโป่ง ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทอเสื่อกกขายเช่นกัน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความแตกต่าง ว่า เสื่อกกบ้านแดงกับเสื่อกกของพื้นที่อื่น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยที่ยังอนุรักษ์เอกลักษณ์ดั้งเดิม 

นอกจากปัญหาเรื่องมาตรฐานที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ก็ยังมีปัญหาอีกหลายประการที่กลุ่มเป้าหมายต้องเรียนรู้ เช่น ปัญหาเสื่อกกบ้านแดงไม่สู้น้ำ กล่าวคือไม่ทนน้ำ ซึ่งเกิดจากการที่นำกกไปแช่น้ำเป็นระยะเวลานานหรือสั้นเกินไป, ปัญหาเสื่อขึ้นรา ซึ่งเกิดจากการเก็บกกไว้ในสถานที่ชื้น เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อกลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ปัญหาของผลิตภัณฑ์เสื่อกกบ้านแดงเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการพัฒนาทักษะการผลิตต่างๆ ให้เป็นกรรมวิธีที่ได้มาตรฐานเดียวกัน โดยกรรมวิธีสำคัญที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของเสื่อกกบ้านแดงก็คือการเย็บริม ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก รัศมี ขันที หนึ่งในคณะทำงานที่ผันตัวเป็นวิทยากร ร่วมกับ บุญสร เหลากลม ปราชญ์ชาวบ้าน ในการทำหน้าที่วิทยากร ซึ่งจะมีการเย็บริมเสื่อด้วยผ้าที่ย้อมสีแดงจากธรรมชาติ 

อีกหนึ่งกระบวนการที่สำคัญของการทำเสื่อกกบ้านแดงอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การทำ ‘ฟืม’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญ มีลักษณะเป็นท่อนไม้ มีรูห่างกันประมาณหนึ่งนิ้ว สำหรับสอดเชือกและกกให้ประสานกัน แม้ว่าฟืมจะเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ แต่การประดิษฐ์ฟืมกลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก เนื่องจากต้องใช้แรงมาก มักเป็นหน้าที่ของผู้ชาย คณะทำงานจึงพยายามให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้วิธีซ่อมฟืมเบื้องต้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อม ซึ่งได้ช่างฟืมฝีมือดีอย่าง ลุงผาง วงศ์คำ และลุงสงวน นิกุล เป็นวิทยากร

เมื่อกลุ่มเป้าหมายได้รับองค์ความรู้ด้านการผลิตเสื่อกกให้ได้มาตรฐานครบถ้วน กระบวนการถัดไปก็คือการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้าน ‘การตลาด’ แต่เดิมนั้น การขายเสื่อกกของชาวบ้านตำบลบ้านแดงทั้ง 3 หมู่บ้าน จะขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง และรับออร์เดอร์จากผู้ประกอบการต่างๆ เช่น โรงแรม สถานที่จัดงานต่างๆ หรือวัด เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าการตลาดรูปแบบนี้ทำให้กลุ่มเป้าหมายต้องลดราคาสินค้าลง เพื่อให้พ่อค้าคนกลางเหล่านี้นำไปขายต่อได้ 

แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้ การตลาดออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น คณะทำงานจึงเล็งเห็นโอกาสในการ ‘ติดปีก’ ให้เสื่อกกบ้านแดงโลดแล่นสู่สายตาคนนอก สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอตระการพืชผล จึงประสานภาคีเครือข่าย ชักชวนผู้ที่มีความรู้ความสามารถเรื่องการตลาดออนไลน์เข้ามาหนุนเสริมองค์ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่วิธีการทำเพจหรือร้านค้าออนไลน์บนเฟซบุ๊ก การถ่ายภาพ การเขียนบอกเล่ารายละเอียดสินค้า จนเกิดเป็นเพจ ‘เสื่อกกแจ๋วโนนบก’ ขึ้น 

ป้าสมนึก เทพรินทร์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า เธอเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ปลูกต้นกก เป็นอาชีพหลัก และทอเสื่อกกเป็นอาชีพเสริมมานานแล้ว แต่ความสามารถด้านการทอเสื่อกกยังไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะนึกอยากทออย่างไรก็ทออย่างนั้น ทอเสร็จก็ส่งขาย ไม่เคยสนใจเรื่อง ‘มาตรฐาน’ แต่เมื่อสังเกตว่าชาวบ้านคนอื่นที่ทอเสื่อกกตามมาตรฐาน แล้วขายได้ราคาดี จึงเริ่มหันมาสนใจเรื่องมาตรฐานสินค้ามากขึ้น

นอกจากป้าสมนึกจะได้เรียนรู้ด้านมาตรฐานการผลิตเสื่อกกจากโครงการแล้ว ยังได้เรียนรู้เทคนิคการปลูกต้นกกให้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้มีหญ้ารบกวนเสริมอีกด้วย ซึ่งทำให้ต้นกกเจริญเติบโตดีขึ้น ซึ่งพอคำนวณกำไรโดยหักต้นทุนแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 บาท ซึ่งมากกว่าสมัยที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ ที่จะได้กำไรประมาณ 5,000-6,000 บาท เท่านั้น โดยรายได้ที่มากขึ้นตรงนี้ทำให้ป้ามีค่าใช้จ่ายเพียงพอในแต่ละเดือน แถมยังมีเหลือเป็นเงินออมสำหรับยามจำเป็นอีกด้วย ป้าสมนึกกล่าวอย่างตื้นตัน

ทั้งนี้ จึงสามารถเรียกได้ว่า โครงการนี้กระจายโอกาสไปสู่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอย่างทั่วถึง โดยสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้เพื่อนำไปต่อยอดสร้างรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังช่วยเสริมบทบาทของกลุ่มสตรีในพื้นที่อีกด้วย เนื่องจากการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินงานตามแผนของโครงการช่วยทำให้สถานะของกลุ่มสตรีเข้มแข็งขึ้น มีการกำหนดแนวทางและแผนการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดการ ‘สร้างโอกาส สร้างงาน และสร้างชุมชน’ ได้อย่างแท้จริง

“หลักคิดสำคัญที่พวกเรายึดถือมาตลอด คือเราต้อง ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เราประชุมร่วมกันว่าเราต้องกระจายโอกาสที่ กสศ. มอบให้กับพื้นที่ของเราไปสู่คนที่ยากลำบากอย่างแท้จริง ฉะนั้น ตอนลงพื้นที่ ทีมงานทุกคนจึงช่วยกันหาข้อมูล พูดคุย ซักถาม เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือคนพิการทางสมอง ซึ่งมีอยู่ในชุมชน เพราะความจริงแล้ว เขาสามารถทำงานที่ไม่ซับซ้อนได้ เช่น รับจ้างตัดเศษด้ายเสื่อกก ในราคาผืนละ 25 บาท เป็นต้น” สีดา พิทักษา ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของเสื่อกก ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

ชื่อหน่วยงาน

คณะกรรมการพัฒนาสตรีตำบลบ้านแดง

จังหวัด

อุบลราชธานี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสีดา พิทักษา
โทร: 080-0010168

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดง เกิดความรัก ความสามัคคี ในหมู่คณะ
  2. ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดงสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น จากรุ่นสู่รุ่น
  3. ชาวบ้านในชุมชนตำบลบ้านแดง มีงาน มีเงิน สามารถอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส