หลักสูตรการปูกระเบื้องของสถานพินิจฯ นครศรีธรรมราชที่เปลี่ยนชีวิตของ ‘ปอนด์’ ให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งจากภายใน
หนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้เยาวชน ‘อดีตผู้ต้องโทษ’ เกิดการกระทำผิดซ้ำและต้องกลับเข้าสู่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนก็คือการที่พวกเขาไม่สามารถ ‘ปรับตัว’ ให้เข้ากับสังคมภายนอกได้ คำว่าปรับตัวนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของทัศนคติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทักษะทางอาชีพที่จะช่วยให้พวกเขาหาเลี้ยงตัวเองอย่างสุจริตได้
โดยปอนด์ (นามสมมุติ) อดีตผู้ต้องโทษในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาช่วยสะท้อนภาพชีวิตของอดีตผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในสถานพินิจฯ ให้คนภายนอกได้รับรู้และเห็นภาพของปัญหาเหล่านี้มากขึ้น
ปอนด์เริ่มต้นชีวิตเยาวชนจากการเป็นเด็กเรียนดี ทว่าเมื่อเริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่นกลุ่มเพื่อนก็เริ่มส่งอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของเขามากขึ้น ปอนด์เริ่มตีตัวออกห่างจากครอบครัว และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อน นับแต่นั้นผลการเรียนของเขาก็ค่อยๆ ตกต่ำลง พร้อม ๆ ไปกับพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้น เขาเริ่มเข้าถึงอบายมุขในรูปแบบต่าง ๆ จนพบกับคำว่า ‘ยาเสพติด’
เมื่อได้ริลองแล้ว ปอนด์ก็ถลำลึกไปในเส้นทางนี้ยิ่งกว่าเดิม เขาถูกโรงเรียนค้นเจอยาเสพติดถึง 3 ครั้งจนทำให้เป็นสาเหตุที่ต้องออกจากสถาบันการศึกษา
“ตอนนั้นผมคิดว่าคงไม่เรียนแล้ว จะออกไปทำงานหาเงินเอง จะใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง เลยขอไปทำงานกับพ่อ แต่พ่อก็ขอให้เรียน กศน. ผมรับปากพ่อไปส่งเดชเพราะไม่ได้คิดอะไรเยอะ กศน. เรียนแค่ 1-2 วันต่อสัปดาห์ ตอนนั้นผมทำงานมีเงินเป็นของตัวเองไม่ต้องขอพ่อแม่ แต่ยังไม่เลิกติดต่อกับเพื่อนกลุ่มเดิม คราวนี้ผมกลับไปติดยาเสพติดหนักกว่าเดิม สุดท้ายก็โดนจับเข้าสถานพินิจฯ”
ปอนด์ได้เข้ามาอยู่ในในสถานพินิจฯ จังหวัดนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ในช่วงเวลาที่มีโครงการสร้างอาชีพอย่างโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการเรียนรู้ทักษะการปูกระเบื้อง ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิดนโยบายของสถานพินิจฯ ที่มุ่งพัฒนาผู้ต้องโทษให้มีทักษะในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษได้อย่างสุจริต
หลักสูตรปูกระเบื้องนี้มีระยะเวลาอบรมตลอดหลักสูตร 90 ชั่วโมง โดยจะเริ่มอบรมตั้งแต่การปูกระเบื้องระดับพื้นฐาน ไปจนถึงขึ้นสูง เมื่อจบการเรียนภาคทฤษฎีแล้วผู้เข้าอบรมจะได้ร่วมฝึกภาคปฏิบัติกับวิทยากรในช่วงท้ายของการอบรม ซึ่งตลอดการอบรมผู้ฝึกสอนจะมีการสอดแทรกทัศคติที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ กิจกรรมสร้างการรู้จักตัวเอง เป็นต้น
ปอนด์ไม่ได้เริ่มต้นฝึกฝนในหลักสูตรด้วยความสนใจตั้งแต่ต้น แต่ด้วยความมานะเรียนอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายเขาก็ได้พบกับความเพลิดเพลินในการเรียนรู้ทักษะชนิดนี้
“ผมคิดว่าเป็นไงเป็นกัน ลองเรียนดูก่อน ก็เลยพยายามทำตามที่สอนทุกอย่าง จนมาเจอสิ่งที่กลัวคือการตัดกระเบื้อง เพราะทำไม่เป็นเลย ลองทำจากแผ่นเล็ก ๆ ทำไปเรื่อย ๆ จนเริ่มทำได้ พอเพื่อนเห็นว่าผมทำได้ ผมก็เริ่มเข้าหาเพื่อนว่าขอช่วยทำด้วยได้ไหม กลับกลายเป็นว่าเพลินไปกับตรงนั้น ลืมไปเลยว่าเมื่อก่อนเคยไม่ชอบ”
เมื่อถึงเวลาที่ปอนด์ได้รับการปล่อยตัว เขาจึงพ้นโทษออกมาด้วยทักษะที่สามารถไปประกอบอาชีพได้ แต่ปอนด์ก็ได้เลือกว่าจะลองกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อต่อยอดความรู้ในแขนงอื่น ๆ เพื่อไปใช้ประโยชน์ต่อในอนาคต โดยมีเรื่องราวของการเรียนปูกระเบื้องเป็นแรงบันดาลใจ
“ผมห่างหายจากการเรียนมา 2 ปี สำหรับคนอื่นอาจไม่นาน แต่สำหรับผมเป็นเวลาที่ยาวนานมาก เพราะชีวิตผ่านอะไรมาหนักมาก เราสบประมาทตัวเองว่าจะทำยังไงต่อดี แต่ก็มานั่งคิดว่าขนาดเรื่องที่ไม่ชอบ อย่างโครงการปูกระเบื้องยังสามารถทำมันมาได้ แล้วเรื่องเรียนที่เคยทำได้ดีมาก่อน ทำไมจะไม่สามารถกลับมาทำมันได้อีก ผมเลยกลับมาเรียน”
นอกจากเรื่องของการเรียนแล้ว ทัศนคติในการใช้ชีวิตของปอนด์ก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งเขาเล่าว่าเป็นผลมาจากช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้จากวิทยากรในสถานพินิจฯ ในปัจจุบันปอนด์ตัดขาดจากเพื่อนกลุ่มเดิมที่พาเขาไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด แล้วเริ่มเปิดใจรับเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต โดยที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางใจของตนเอง ที่กล้าจะเลือกเส้นทางเดินที่ถูกต้องและไม่ตามใจตัวเองในทางที่ผิด
“เพื่อนหรือสภาพแวดล้อมอาจจะมีผลต่อตัวเรา แต่คนที่ตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ได้ คือตัวเราเอง ผมใช้ประสบการณ์ที่เดินพลาดมาเตือนใจ ทุกการเลือกอย่าให้เสียเปล่า ถ้าใจเราไม่เอา เราก็ไม่เอา จงยืนให้เป็น เดินอย่างมีสติ ก้าวอย่างมีสติ และถ้าผมได้ไปเจอปอนด์ในอดีต ผมจะบอกว่าผมไม่กลัวเขาแล้ว ผมจะไม่ยอมตามใจเขาอีกแล้ว”
ปอนด์ทิ้งท้ายถึงหลักคิดที่เรียบง่าย แต่เข้มข้นด้วยประสบการณ์ที่ผ่านชีวิตมาโชกโชน