มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร อำเภอบางกล่ำ เอาชนะวิกฤตโควิด-19 ผ่านโครงการยกระดับทักษะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์

สงขลา ผู้ประกอบการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปี พ.ศ. 2562 ตลาดสมุนไพรจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 18,200 ล้านบาท และมีโอกาสพุ่งไปสู่ระดับ 20,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2563 โดยมีปัจจัยหนุนจากเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ และนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ทั้งนี้ ตลาดรองรับที่มีความต้องการสูงในอนาคต ได้แก่ กลุ่มธุรกิจด้านการแพทย์และความงาม รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวและตลาดส่งออก ภายใต้นโยบายการสร้างเมืองสมุนไพร 

อำเภอบางกล่ำ เป็น 1 ใน 7 กลุ่มแกนนำผู้ปลูกสมุนไพรของจังหวัดสงขลา จากการเตรียมความพร้อมให้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองสมุนไพร ในวาระ “สงขลาเมืองแห่งความสุข ดูแลสุขภาพประชาชนด้วยวิถีแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับชาวสงขลาและนักท่องเที่ยว” ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ส่งผลให้บางกล่ำ ถูกสนับสนุนให้มีวิสาหกิจเกี่ยวกับสมุนไพรเพื่อรองรับนโยบาย

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จึงได้จัดทำ “โครงการการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยการพัฒนาทักษะอาชีพและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางธรรมชาติและทุนทางสังคมในพื้นที่อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา” เพื่อพัฒนากลุ่มวิสาหกิจภายในอำเภอบางกล่ำให้มีความแข็งแรงสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง

จากการศึกษาข้อมูลของแต่ละวิสาหกิจทำให้ทราบว่า วิสาหกิจชุมชนประสบปัญหาที่คล้ายกันคือ พบว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าผ่านกิจกรรมการออกร้านทำให้ขาดช่องทางจำหน่ายสินค้าและมีส่วนที่แตกต่างกันดังนี้ 

  1. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรชุมชนคุณธรรมบ้านหัวนอนวัด ทำธุรกิจผลิตสินค้าจากสมุนไพร เช่น ลูกประคบ น้ำมันนวด ยาหม่อง น้ำมันไพล และน้ำสมุนไพร โดยทางกลุ่มยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ 
  2. กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปข่าตาแดงบ้านเลียบ ทำธุรกิจน้ำข่าสมุนไพร ปัจจุบันได้รับมาตรฐาน OTOP ระดับ 3 ดาว เพราะเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมี โดยทางกลุ่มฯ ประสบปัญหาเรื่องอายุของน้ำข่าสมุนไพร เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษจึงทำให้ไม่สามารถใส่สารกันบูด อายุในการเก็บรักษาจึงสั้น ส่งผลต่อการขนส่ง 
  3. กลุ่มเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ ทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับน้ำผึ้งได้แก่ น้ำผึ้งโพรง น้ำผึ้งชันโรง สบู่น้ำผึ้ง รังเลี้ยงผึ้ง รวมถึงเสน่ห์ผึ้งและตัวผึ้ง ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มฯ ขาดทักษะในการเพิ่มมูลค่า ไม่มีแบรนด์สินค้า และ บรรจุภัณฑ์ไม่ดึงดูดผู้บริโภค ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ได้ 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางคณะผู้จัดทำโครงการจึงออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจที่สอดคล้องกับความต้องการกับกลุ่มวิสาหกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การอบรมทักษะการตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายสินค้า การอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแต่ละวิสาหกิจ ด้วยการประยุกต์พัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน เช่น การผลิตลูกประคบให้มีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด การผลิตน้ำข่าสมุนไพรในรูปแบบชาเพื่อรสชาติที่แตกต่างและการเพิ่มอายุในการเก็บรักษา การอบรมทักษะการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและความสวยงามดึงดูดผู้บริโภค การอบรมทักษะการประกอบการ ด้านการเงินและบัญชี 

จากหลักสูตรที่ออกแบบขึ้นมาจะทำให้วิสาหกิจทั้งสามสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านคุณภาพ บรรจุภัณฑ์  การจัดจำหน่าย จนถึงด้านการเงินและบัญชี ซึ่งจะทำให้วิสาหกิจมีความสามารถเพียงพอในการรอดพ้นวิกฤตโควิด-19 เสริมความแข็งแรงที่ทำให้สามารถต่อสู้ในตลาดสินค้าจากสมุนไพร สร้างอาชีพเพิ่มรายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน สามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจได้ด้วยตนเอง รวมไปถึงสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการพัฒนาให้สงขลาเป็นเมืองสมุนไพรได้อีกเช่นกัน 

หลักสูตรที่ออกแบบขึ้นมาจะทำให้วิสาหกิจทั้งสามสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านคุณภาพ บรรจุภัณฑ์  การจัดจำหน่าย จนถึงด้านการเงินและบัญชี 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยการพัฒนาทักษะอาชีพและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากจากทุนทางธรรมชาติและทุนทางสังคมในพื้นที่อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

ชื่อหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

จังหวัด

สงขลา

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ดร.สิริลักษณ์ ทองพูน
โทร: 089-7365856

เป้าประสงค์โครงการ

3.1 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้ารับการอบรมทั้ง 3 กลุ่ม จะต้องมีทักษะอาชีพด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ลูกประคบ ชาข่า สบู่น้ำผึ้ง (สบู่ก้อนและสบู่เหลว) และทักษะด้านการตลาดดิจิทัล เพื่อให้กลุ่มสามารถดำเนินกิจกรรมได้สอดคล้องกับสภาวะวิถีชีวิตแบบใหม่ได้ 

3.2 ผู้เข้ารับการอบรมสามารถพึ่งพาตนเอง มีงานทำ และสร้างรายได้จากการพัฒนาอาชีพได้มากกว่า 6,500 บาท ต่อเดือน และมีทักษะชีวิตด้านการจัดการเศรษฐกิจครัวเรือน

3.3 ผู้เข้ารับการอบรมมีทักษะการบริหารจัดการสำหรับศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดูแลตนเองและครอบครัว รวมถึงสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.4 ชุมชนสามารถยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ  

3.5 ชุมชนมีศักยภาพในการพัฒนาโมเดลธุรกิจ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส