เครือข่ายวัฒนธรรมฯ บูรณาการวิถีชุมชนอาข่ากับความรู้สากล เพื่อติดเครื่องมืออาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตชาว ‘อาข่า’

เชียงราย ผู้ประกอบการ

โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิตชนเผ่าอาข่า คือโครงการที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอาข่า มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาของชาวเผ่าอาข่า และนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปผลิตเป็นสินค้าที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการสร้างระบบจัดจำหน่ายที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ในชุมชน

กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าอาข่าเป็นกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นภูเขา ส่งผลให้หน่วยงานจากภาครัฐไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาได้อย่างทั่วถึง คนในชุมชนส่วนใหญ่จึงขาดอาชีพและมีรายได้ที่ไม่มั่นคง โครงการพัฒนาอาชีพฯ จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือ โดยรับสมัครกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ในชุมชนเข้ามาเป็นสมาชิก

หลังจากที่รวบรวมสมาชิกได้ครบตามเป้า 115 คน เจ้าหน้าที่ในโครงการก็ได้ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของสมาชิกในโครงการ และพบว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรและรับจ้างเสริมควบคู่ไปด้วย แต่หลายคนยังประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางรายได้ โดยมีบางส่วนเป็นผู้สูงอายุที่เลยวัยแรงงาน ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และสมาชิกส่วนมากยังไม่ได้รับสัญชาติไทย

โครงการพัฒนาจึงได้วางแผนการพัฒนาทักษะหลายๆ ด้านให้กับกลุ่มสมาชิกกลุ่มนี้ เริ่มจากการให้ผู้เข้าร่วมสำรวจความถนัดในการสร้างอาชีพของตัวเอง สร้างความเข้าใจในวิถีและภูมิปัญญาของชุมชน จากนั้นโครงการก็ได้จัดทำสื่อส่งต่อความรู้ขึ้นมา 8 ชุด คือ
  1. คู่มือสมุนไพรและหมอพื้นบ้านอาข่า
  2. คู่มือการจักสานพื้นบ้านอาข่า
  3. คู่มือการตีมีดพื้นบ้านอาข่า
  4. การอาหารและการถนอมอาหารพื้นบ้านอาข่า
  5. ข้าวซ้อมมืออาข่า
  6. คู่มือเครื่องเล่นและบทเพลงพื้นบ้านอาข่า
  7. คู่มืองานผ้าอ่าข่า
  8. คู่มือการทำสบู่ น้ำยาล้างจาน และยาสระผม จากสมุนไพรพื้นบ้านอ่าข่า

นอกจากจัดทำเอกสารขึ้นมาเป็นแบบเรียนแล้ว โครงการยังจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะที่ให้สมาชิกได้ลงมือฝึกฝนผ่านการปฏิบัติจริงด้วย เพื่อให้พวกเขาสามารถนำเอาความรู้ไปผลิตสินค้าได้ด้วยตนเองและเผยแพร่ให้กับคนอื่นต่อไป

หลังจากที่ฝึกฝนอบรมกลุ่มเป้าหมายมาได้ระยะหนึ่ง โครงการร่วมกับกลุ่มสมาชิกก็ได้มีผลงานการออกแบบสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาของชาวอาข่าถึง 15 รายการ อาทิ ‘ค้าหล่อ’ หรือ ถ้วยไผ่ใส่อาหาร ‘ขะชี้’ หรือ กล่องใส่ดอกไม้แห้ง ‘ส่าผ้า’ หรือ ผ้าทอของชาวอาข่า เป็นต้น

ความก้าวหน้าของการเรียนรู้และจัดทำผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ช่วยให้โครงการดำเนินเป้าหมายไปยังจุดประสงค์สุดท้ายได้คือการจัดทำตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้า โดยมีการเตรียมพื้นขายเป็นสองส่วนคือตลาดชุมชนและตลาดกลางเมือง ซึ่งปัจจุบันโครงการมีความก้าวหน้าคือสามารถนำเอาสินค้าเข้าไปเปิดขายในพื้นที่ตลาดชุมชนได้ถึง 6 แห่ง

หนึ่งในสมาชิกโครงการได้เล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าและความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ภายหลังจากที่เข้าร่วมโครงการว่า “โครงการได้สอนเราในหลายๆ ทักษะ แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดคือกิจกรรมการแปรรูปสินค้าจากธรรมชาติ เนื่องจากได้เห็นกระบวนการทำงานที่เป็นระบบและน่าสนใจ เพราะเป็นการนำทรัพยากรที่มีในชุมชนมาต่อยอดและสร้างรายได้”

ในมุมของผู้ดูแลโครงการก็ได้มองไปถึงอนาคตว่า ถ้าหากโครงการนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสมาชิกมากขึ้น ก็อาจจะมีการทำระบบ ‘ตลาดความรู้ชุมชน’ ขึ้นมา เพื่อให้ใครก็ตามที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมเรียนรู้ในภูมิปัญญาของชาวอาข่าได้ นอกจากนี้ยังมองไปถึงการสร้างระบบบริหารแบบง่าย ที่สมาชิกสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรได้ด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนทางรายได้ให้เกิดขึ้นในกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิตชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย

ชื่อหน่วยงาน

เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า

จังหวัด

เชียงราย

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก
โทร: 081-9522179

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เกิดต้นแบบแหล่งเรียนรู้ และการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิต ขยายผลสู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
  2. เกิดเครือข่ายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ร่วมพัฒนาการตลาดชนเผ่าในจังหวัด เชียงราย
  3. กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ทักษะอาชีพ สามารถเป็นผู้สอนให้ความรู้แก่ผู้อื่น มีอาชีพประกอบในชุมชนสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล่ำ ให้แรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส