วิสาหกิจชุมชนบางหัวเสือ ประสานพลังส่งเสริมผู้ด้อยโอกาส สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สมุทรปราการ อื่น ๆ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนับเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในบริบทของตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางหัวเสือก็ถือเป็นกลไกสำคัญเช่นกัน โดยกลุ่มดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เพื่อลดรายจ่าย ควบคู่กับการทำบัญชีต้นทุนอาชีพ รวมถึงผลิตผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนร่วมกัน เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ยาสระผม ฯลฯ 

จากการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางหัวเสือ ส่งผลให้เกิดกลุ่มพัฒนาทักษะอาชีพ กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน และต่อยอดไปสู่กลุ่มต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมีส่วนช่วยให้หนี้สินครัวเรือนลดลง คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาชุมชนผ่านประสบการณ์หรือบทเรียนจากการทำงานจริง

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางหัวเสือจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับชุมชนนับไม่ถ้วน ทว่า กระบวนการพัฒนาของกลุ่มในปัจจุบัน ยังประสบปัญหาหลักเช่นเดียวกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ อาทิ รูปแบบของระบบบัญชี, การเชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรมร่วมกัน 

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางหัวเสือ จึงริเริ่ม “โครงการสานพลังเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์พอเพียง จังหวัดสมุทรปราการ” เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเองผ่านการขยายผลจากทุนเดิมที่ทำไว้ โดยทางโครงการฯ ได้มีการเฟ้นหากลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งหมด 60 คน จากพื้นที่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน 4 แห่ง ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกะปิคลองด่านชุมชน 3 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรใกล้บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางหัวเสือ และการศึกษานอกระบบ ตำบลบางจาก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อย และกลุ่มที่ขาดทักษะอาชีพ  

หลังจากที่ได้กลุ่มเป้าหมายตามที่ต้องการแล้ว ทางโครงการฯ ก็ได้เริ่มการดำเนินงานผ่านการศึกษาข้อมูลจากองค์กร Euromonitor International พบว่า ผู้บริโภคที่อยู่ในชุมชนเมืองกำลังสนใจด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดด้านผลิตภัณฑ์อาหารสูงถึงร้อยละ 62.3 ด้วยเหตุนี้ ทางโครงการฯ จึงได้เลือกที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการตลาดที่ใส่ใจสุขภาพ อันได้แก่ ชาหญ้าหมอน้อย น้ำสมุนไพรหญ้าหมอน้อย กะปิผงรสวาซาบิ และกะปิผงทรงเครื่อง เป็นต้น

 เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการแล้ว กลุ่มเป้าหมายได้มีการเข้าอบรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิตและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ตลอดจนถึงการเจาะตลาดด้วยการสร้างช่องทางการตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในปัจจุบัน ผ่านความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เกษตรอำเภอ,สยามกลาส และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลฯ เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพผ่านแอปพลิเคชั่น Smart Me สำหรับจัดการบัญชีครัวเรือนและการจัดทำต้นทุนอาชีพ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถวิเคราะห์ตนเอง เพื่อกำหนดเป้าหมายและวางแผนจัดการชีวิตตนเองได้

จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ชุมชนทั้งเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือชุมชนเอง ต่างพากันร่วมมือร่วมใจในการสานพลังของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพราะหากโครงการฯ ประสบความสำเร็จ จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างยั่งยืนผ่านการต่อยอดจากทุนเดิม ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างโอกาสด้านการผลิตและจำหน่ายให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศด้วย  

การสานพลังของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ผ่านการต่อยอดจากทุนเดิม ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างโอกาสด้านการผลิตและจำหน่ายให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สานพลังเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์พอเพียง จังหวัดสมุทรปราการ

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนบางหัวเสือ จังหวัดสมุทรปราการ

จังหวัด

สมุทรปราการ

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางประทุม จันทรศิริ
โทร: 081-6226042

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เกิดการรวมกลุ่มของผู้ด้อยโอกาส ผู้ว่างงาน ทำให้มีอาชีพและสร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือนของตนเองได้
  2. ผู้ด้อยโอกาสและผู้ว่างงาน มีเป้าหมายชีวิต สามารถวางแผนชีวิตไปสู่เป้าหมายได้
  3. ผู้ด้อยโอกาสและผู้ว่างงาน สามารถร่วมกันต่อยอดผลิตภัณฑ์ พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้
  4. เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดสมุทรปราการ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส