สภาองค์กรชุมชนตำบลจอมปลวกสมุทรสงคราม พัฒนาทักษะอาชีพปลูกผักปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู้โควิด-19

สมุทรสงคราม เกษตรกรรม

เทรนด์รักสุขภาพ การบริโภคพืชผักปลอดภัยกำลังกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือนานาชาติ ประเทศไทยในฐานะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพการเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงมีโอกาสในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งและดึงกระแสดังกล่าวมาส่งเสริมการค้าขายผลิตภัณฑ์ทางเกษตรของตนให้ทวีคูณมากขึ้น  

ชุมชนตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม มีทุนทรัพยากรที่เอื้อต่อเกษตรกรรม เนื่องจากมีแหล่งน้ำจำนวนมาก มีน้ำจืดใช้ตลอดปี และสภาพดินอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรในชุมชนส่วนใหญ่นิยมปลูกมะพร้าวเป็นอาชีพหลัก ส่งผลให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านการเกษตรมากมาย เช่น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภี เป็นตัวอย่างการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ 1 ไร่ ผ่านการเกษตรแบบผสมผสาน การเลี้ยงสัตว์ การจัดการพลังงาน และการแปรรูปอาหาร อีกทั้งยังมีโรงเรือนปลูกผักกางมุ้งบ้านอาจารย์ เป็นแหล่งความรู้ด้านการปลูกผักอินทรีย์ การป้องกันแมลงด้วยวิธีกล การทำแปลงผักและมุ้งกันแมลงราคาประหยัดด้วยวัสดุในท้องถิ่น 

แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ปีที่ผ่านมา ถาโถมผลกระทบจนชาวบ้านไม่อาจตั้งตัวทัน มีผู้ได้รับผลกระทบจากการค้าขายผลผลิตทางเกษตรไม่ได้เป็นจำนวนมาก สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนตำบลจอมปลวก จังหวัดสมุทรสงคราม จัดเวทีถอดบทเรียนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเฟ้นหาธรรมนูญชุมชนสำหรับป้องกันผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว โดยผลลัพธ์คือแกนนำชุมชนได้ข้อตกลงร่วมกัน ว่าควรมุ่งพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักปลอดภัยเป็นอาชีพเสริม เพราะมีตลาดรองรับผลผลิตอย่างแน่นอน ทั้งยังกลายเป็นที่มาของ “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพ การปลูกผักปลอดภัยในพื้นที่ตำบลจอมปลวก จังหวัดสมุทรสงคราม” 

ในเริ่มต้นนั้นทางคณะทำงานเล็งเห็นว่า สวนมะพร้าวของเกษตรกรในชุมชนยังมีพื้นที่ว่าง สามารถปลูกผักสวนครัวหรือผักพื้นบ้านไว้บริโภคหรือจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับตลาดผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ต้องการบริโภคผักที่ปลูกโดยกรรมวิธีที่ปลอดภัย ดังนั้น คณะทำงานจึงมุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้น้อยและผู้เปราะบางที่ขาดอากาสทางเศรษฐกิจ จำนวน 52 คน จากพื้นที่ชุมชนตำบลจอมปลวกตั้งแต่หมู่ที่ 1 ถึง 7 

ทั้งนี้ โครงการจะนำทุนความรู้และทุนทรัพยากรของชุมชนที่มีอยู่ดั้งเดิม มาผสานรวมกับกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการผลิตผักปลอดภัย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มจากการเตรียมดินและเมล็ดพันธุ์ ควบคู่กับการสาธิตการทำแปลงผักปลอดภัยในสวนมะพร้าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายมากมาย อาทิ สภาองค์กรชุมชนตำบลจอมปลวก องค์การบริหารส่วนตำบลจอมปลวก บริษัทประชารัฐรักษามัคคี และสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน สมุทรสงคราม

และเมื่อกระบวนการต้นน้ำอย่างทักษะการผลิตราบรื่น ขั้นตอนต่อไปก็คือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ และการจัดจำหน่าย ซึ่งคณะทำงานเน้นการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านตลาดออนไลน์เป็นหลักผ่านการอบรมวิธีผลิตวิดีโอเพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย บนเพจเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชั่นไลน์ 

หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส จะมีอาชีพเสริมที่ช่วยเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักอย่างมั่นคง โดยไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอก ทำให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้า ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีความมั่นคงด้านอาหารพร้อมสู้สถานการณ์โควิด-19 อย่างยั่งยืน ตามวิธีคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแบบ BCG Model กล่าวคือ เกิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น และระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

 

เริ่มต้นนั้นทางคณะทำงานเล็งเห็นว่า สวนมะพร้าวของเกษตรกรในชุมชนยังมีพื้นที่ว่าง สามารถปลูกผักสวนครัวหรือผักพื้นบ้านไว้บริโภคหรือจำหน่าย เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับตลาดผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการบริโภคผักที่ปลูกโดยกรรมวิธีที่ปลอดภัย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะอาชีพ การปลูกผักปลอดภัยในพื้นที่ตำบลจอมปลวก จังหวัดสมุทรสงคราม

ชื่อหน่วยงาน

สภาองค์กรชุมชนตำบลจอมปลวก จังหวัดสมุทรสงคราม

จังหวัด

สมุทรสงคราม

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวอุษา เทียนทอง
โทร: 081-8068846

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่ม มีกินมีใช้ในครัวเรือน ช่วยเหลือตนเองได้
  2. เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในตำบลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  3. เกิดเครือข่ายผู้ผลิตและตลาดผักปลอดภัยของตำบล
  4. เกิดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ท้องที่ กลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบลที่เข้มแข็ง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส