มูลนิธิขวัญชุมชนช่วยยกระดับวิสาหกิจผ้าไหม สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับครัวเรือน สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สุรินทร์ งานหัตถกรรมและฝีมือ

แรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานโดยไม่มีสัญญาการจ้างงานที่เป็นทางการ หรือไม่มีนายจ้าง สำหรับจังหวัดสุรินทร์ ขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหม เป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญ ส่งผลให้ผ้าไหมในสุรินทร์เป็นที่นิยมในท้องตลาด ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูง ปัจจัยการผลิตก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นตาม จึงเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ กลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองหรือกลไกในการขับเคลื่อนวิสาหกิจผ้าไหม จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในโอบอุ้มเศรษฐกิจครัวเรือนในจังหวัดเองอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้พวกเขาจะประกอบอาชีพภายใต้สังกัดวิสาหกิจดังกล่าว แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังประสบปัญหา การขายผ้าไหมได้ในราคาที่ต่ำกว่าทุน ทำให้ต้องเร่งผลิตและขายผ้าไหมเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซื้อของอุปโภคบริโภคและชำระหนี้ก้อนโตที่สะสมจากการขาดทุน 

ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (covid-19) รายได้จากการขายผ้าลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคต้องชะลอการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นในชีวิต รวมไปถึงการตกงานของลูกหลานทำให้ต้องกลับมายังพื้นที่ทำให้หลายคนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ความเดือดร้อนที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจผ้าไหมให้ได้มากที่สุด

มูลนิธิขวัญชุมชน องค์กรผู้ซึ่งเคยทำงานร่วมกับบ้านสำโรง ตำบลสนม อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ โดยได้รับทุนจากกสศ. จัดทำโครงการยกระดับผ้าไหมสุรินทร์และสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ซึ่งจากการทำงานในโครงการฯ ที่ได้รับทุนครั้งที่แล้วพบว่ากลุ่มแรงงานทอผ้านอกระบบยังมีปัญหาที่สำคัญซึ่งยากต่อการพัฒนาอยู่มาก เช่น หนี้สินส่วนตัวซึ่งเกิดจากการขาดทุนสะสมของการขายผ้าไหม ปัญหาวัตถุดิบสำคัญอย่างเส้นไหมมีราคาแพง ปัญหาการมีผู้ขายผ้าไหมเพิ่มขึ้น ไม่สามารถกำหนดราคาได้และมีการตัดราคากันเอง ทั้งนี้ยังรวมถึงการขาดทักษะของคนทอผ้าทำให้ไม่ไม่ความมั่นใจในการประกอบอาชีพ 

การสานต่อโครงการฯ ครั้งนี้มูลนิธิขวัญชุมชนจึงมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจมีการเรียนรู้และยกระดับมาตรฐานการผลิตโดยเชื่อมโยงช่วยเหลือกันระหว่างกลุ่มทอผ้าไหม ผ่านการจัดตั้งโครงการใหม่ที่ชื่อว่า ‘โครงการการส่งเสริมการประกอบการผ้าไหมสร้างสรรค์ในกลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์สู่ตลาดเป็นธรรมพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ 

โดยทางโครงการฯ ได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มแกนนำและกลุ่มแรงงานที่ขาดโอกาส ตั้งแต่ผู้ว่างงาน เยาวชน ผู้สูงอายุและ (2) กลุ่มผู้ทอผ้าที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในพื้นที่ตำบลจารพัต  อำเภอศีขรภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานใหม่และพื้นที่ตำบลสนม อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่เดิมที่เคยเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางมูลนิธิฯ มองว่ากลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อ โดยกลุ่มแกนนำนั้นมีประสบการณ์ มีความสามารถในการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ช่วยเหลือกลุ่มผู้ขาดโอกาสได้เป็นอย่างดี 

โดยโครงการฯ นี้จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในพื้นที่ สร้างความรู้สึกให้กลุ่มเป้าหมายมีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเองและชุมชน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาซึ่งกันและกันในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สามารถยกงานผ้าทอสุรินทร์ให้เป็นงานคราฟไทยที่ส่งออกยังต่างประเทศและตลาดเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อได้เป็นอย่างดีตามมาตรฐานการผลิตผ้าไหมสร้างสรรค์

ซึ่งหากโครงการฯ สำเร็จไปด้วยดี ก็จะนำพาความสุข รายได้ และรากฐานชีวิตที่ยั่งยืน ให้แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบวิสาหกิจผ้าไหมอย่างแท้จริง 

ในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพครั้งนี้เป็นการสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในพื้นที่ สร้างความรู้สึกให้กลุ่มเป้าหมายมีแรงบันดานใจในการพัฒนาตัวเองและชุมชน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการการส่งเสริมการประกอบการผ้าไหมสร้างสรรค์ในกลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์สู่ตลาดเป็นธรรมพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

ชื่อหน่วยงาน

มูลนิธิขวัญชุมชน

จังหวัด

สุรินทร์

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวอภิสิรี จรัลชวนะเพท
โทร: 08 6163 1780

เป้าประสงค์โครงการ

กลุ่มแรงงานนอกระบบทอผ้าไหมเกิดความมั่นใจในตนเอง และสามารถนำความรู้และทักษะที่เรียนรู้ไปปรับปรุงกระบวนการผลิตในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตนเอง เป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้น สามารถลดหนี้ครัวเรือน และมีความสุข

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส