บ้านหนองบัวแดงพัฒนานวัตกรรมปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ลดต้นทุนการผลิต ใส่ใจเกษตรกร ห่วงใยผู้บริโภค

ขอนแก่น เกษตรกรรม

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรไปยังนานาชาติต่อปีเป็นจำนวนมาก การปลูกพืชผักหลายๆ ครั้งจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาปัจจัยที่คำนึงถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะการนำปุ๋ยมาใช้เพื่อเร่งการเติบโตของพืชผัก รวมถึงให้ความสวยงามสำหรับการส่งออกและเสิร์ฟถึงโต๊ะอาหาร

บ้านหนองบัวแดง หมู่ที่ 5 ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งในพื้นที่การเกษตรที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้ จากเดิมที่เคยมีโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขนาดกลางพร้อมเครื่องจักรที่สามารถผลิตปุ๋ยได้จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ตันต่อปี มีการจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดหนองบัวแดง” โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายเอกชน “โชคสุวรรณฟาร์ม” เป็นฟาร์มวัวขนาดใหญ่ที่เลี้ยงวัวขุนราว 100 ตัว ทำให้มีมูลสัตว์ที่นำมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้เพียงพอกับความต้องการจนสามารถนำผลกำไรจากการผลิตปุ๋ยมาต่อยอดจนทำให้เกิดร้านค้าชุมชน เกิดกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีการพัฒนาฉางข้าวชุมชน และอีกหลายกิจกรรมที่ดำเนินการในชุมชน

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2561 ทางพื้นที่บ้านหนองบัวแดงประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การดำเนินผลิตปุ๋ยอินทรีย์ประสบปัญหาด้านการจำหน่ายจึงทำให้วิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดหนองบัวแดงต้องหยุดดำเนินการผลิตปุ๋ย ส่งผลให้ ชาวบ้านในหมู่บ้านหนองบัวแดงซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา เริ่มหันมาใช้ปุ๋ยเคมีกันมากขึ้น ซึ่งทำให้ระบบนิเวศดินถูกทำลายและทำให้โครงสร้างของดินเสื่อมลง ดินกระด้างไม่อุ้มน้ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร และยังส่งต่อสุขภาพของเกษตรกรในชุมชน ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การส่งออกภาคการเกษตรได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงแรงงานจากภาคส่วนต่างๆ ที่ถูกเลิกจ้าง

วิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด หนองบัวแดงจึงคิดริเริ่มโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด เพื่อการพึ่งพาตนเองของผู้ด้อยโอกาส” โดยมีเป้าหมายเพื่อนำองค์ความรู้และทักษะอาชีพในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดกลับมาสู่ชุมชนอีกครั้ง เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ รวมไปถึงพัฒนาคุณภาพของสินค้าทางการเกษตรให้ดีและปลอดภัยขึ้น โดยเบื้องต้นโครงการได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายมาจำนวน 50 คน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบทั้งหมด

หลังจากที่โครงการได้เริ่มต้นขึ้น วิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดหนองบัวแดง  ได้ออกแบบพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดการอบรมได้สำเร็จ โดยมีเนื้อหามุ่งเน้นไปที่ 3 ทักษะ นั้นคือ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การจัดจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ และ การวางแผนด้านการเงิน ซึ่งทั้งสามทักษะเป็นความรู้เบื้องต้นที่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อย่างมีคุณภาพ โดยหลังจากจบหลักสูตรไปแล้ว สมาชิกสามารถนำเอาความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดตามแนวทางของตัวเองได้อย่างเต็มที่

โครงการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า กลุ่มเป้าหมายร้อยละ 80 จะสามารถลดต้นทุนการผลิตในการเกษตรไม่น้อยกว่า 800 บาทต่อคนต่อเดือน และมีรายได้เพิ่มจากการขายผลผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อคน และยังส่งผลให้เหล่าแรงงานนอกระบบสามารถกลับเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อยังประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของชุมชนต่อไป

ทางวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด หนองบัวแดง ได้มีการประสานงานกับภาคีเครือข่ายทั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเม็ก สำนักงาน กศน.อำเภอหนองสองห้อง สำนักงานเกษตรอำเภอหนองสองห้อง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับแนวทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมพัฒนาอาชีพในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

โครงการมีเนื้อหามุ่งเน้นไปที่ 3 ทักษะ นั้นคือ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การจัดจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ และ การวางแผนด้านการเงิน ซึ่งเพียงพอต่อการประกอบอาชีพการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อย่างมีคุณภาพ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด เพื่อการพึ่งพาตนเองของผู้ด้อยโอกาส

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด หนองบัวแดง จังหวัด ขอนแก่น

จังหวัด

ขอนแก่น

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสมศักดิ์ คำกุนะ
โทร: 061-5538452

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายมีความพร้อมและความเข้าใจในการประกอบอาชีพด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด
  2. กลุ่มเป้าหมายเกิดความรู้และทักษะอาชีพในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด
  3. กลุ่มเป้าหมายได้ฝึกปฏิบัติเพื่อสร้างทักษะด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด
  4. กลุ่มเป้าหมายเกิดการสร้างโอกาส สร้างงาน  สร้างรายได้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านเพื่อมีส่วนร่วมในการร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในหมู่บ้านร่วมกัน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส