เปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโต ชุมชนสันป่าเหียงปรับตัวจากเกษตรกรรมสู่การท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชนตลาดนัดเกษตรอินทรีย์

เชียงราย อื่น ๆ

ชุมชนสันป่าเหียง จังหวัด เชียงราย เดิมเป็นชุมชนเกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นในปี 2552 เมื่อ พระอาจารย์วุฒิชัย วชิรเมธี ได้ก่อตั้งสำนักวิปัสสนา “ไร่เชิญตะวัน” ไม่ห่างจากชุมชนสันป่าเหียง ทำให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเข้ามาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556  มีจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 600,000 คน ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลของไร่เชิญตะวัน แต่รายได้จากการท่องเที่ยวนั้นไม่คงที่ เนื่องจากชุมชนยังไม่ได้การพัฒนาในด้านการท่องเที่ยวมากพอจึงทำให้ไม่สามารถกระจายรายได้อย่างเหมาะสม 

จากการศึกษาพบว่า ชุมชนมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองในด้านการท่องเที่ยว โดยมีสถานที่ท่องเที่ยว ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสัก ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 มีพื้นที่ 12.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงามเหมาะสำหรับการพักผ่อน พระธาตุโพธิญาณ เป็นธรรมสถานที่อยู่ในการดูแลของอาศรมอิสรชน สังกัดวัดศรีศักดาราม (มหานิกาย) ตั้งอยู่บนม่อนปลาดุก มีส่วนของพื้นที่ป่าล้อมรอบกว่า 1,350 ไร่  ไร่เชิญตะวัน สถานที่ปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียง มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ความสนใจ นอกจากนี้ ชุมชนมีพื้นที่แหล่งเรียนรู้ ที่ได้รับการสนับสนุนและดำเนินการร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ เฉลิมพระบารมี จึงจัดตั้ง “โครงการ พัฒนากลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนบ้านสันป่าเหียง อ.เมือง จ.เชียงราย” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางสังคมสร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทางด้านการเกษตรอินทรีย์ การจัดการตลาดของชุมชน และการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวมากขึ้น  โดยในโครงการจะมีการอบรมตามกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มดังนี้  

  1. กลุ่มเกษตรกร ประกอบไปด้วย กลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ โดยจะเน้นพัฒนากระบวนการในการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความหลากหลายได้คุณภาพ เน้นการออกแบบให้มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีความรู้ในการสร้างอัตลักษณ์ของสินค้า รวมเข้าใจไปถึงวิธีการทางการตลาด เพื่อจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว
  2. กลุ่มการท่องเที่ยว ประกอบไปด้วย โฮมสเตย์และกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งจะเน้นไปที่การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวให้เกิดเป็นแผนการท่องเที่ยวชุมชนโดยใช้แนวคิด Community-based tourism (CBT) รวมถึงยังพัฒนาทักษะในด้านการท่องเที่ยวเช่น การพัฒนาทักษะการประกอบอาหาร การฝึกทักษะมัคคุเทศก์ท้องถิ่น เป็นต้น
  3. กลุ่มนักประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้มีการเรียนรู้ทักษะทางการตลาด โดยเน้นการทำให้หมู่บ้านสันป่าเหียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง นำมาสู่การมีรายได้จากการท่องเที่ยวเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนแบบยั่งยืนและถาวร 

ทั้งนี้โครงการยังได้ประสานกับภาคีเครือข่ายใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการปรับภูมิทัศน์ ไร่เชิญตะวันที่เสริมองค์ความรู้พื้นฐานในการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งการปลูกข้าว งานหัตถกรรม การเลี้ยงไก่ไข่และเป็ดไข่ ทั้งยังส่งผลิตภัณฑ์บางส่วนมาให้วิทสาหกิจชุมชนจัดจำหน่ายอีกด้วย รวมไปถึงเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมและผู้ประกอบการผลผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัย จ.เชียงราย เพื่อเตรียมส่งเสริมและสนับสนุนโครงการที่จะเกิดในอนาคต 

หลังจากโครงการสำเร็จผลตามแผนงาน คาดว่าสมาชิกของโครงการจะมีองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์อย่างรอบด้านและพร้อมสำหรับการเติมเต็มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ผ่านการบริการและผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งโครงการตั้งเป้าหมายไว้ว่าชุมชนสันป่าเหียงจะก้าวสู่การเป็น 1.ชุมชนที่ปลอดสารเคมี 2.ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพุทธ 3.ชุมชนก่อเกิดรายได้สร้างเศรษฐกิจฐานรากจากพื้นที่เอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเรียนรู้สำหรับคนในและคนนอกพื้นที่

สมาชิกของโครงการนี้จะได้รับองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ และพร้อมสำหรับการเติมเต็มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนากลุ่มอาชีพวิสาหกิจชุมชนบ้านสันป่าเหียง อ.เมือง จ.เชียงราย โดยใช้นวัตกรรมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ เฉลิมพระบารมี จังหวัดเชียงราย

จังหวัด

เชียงราย

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางเสาร์แก้ว เทพสิงห์
โทร: 08-874-99378

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เกิดนวัตกรรมสังคมที่สร้างการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนอย่างน้อย 3 นวัตกรรม
  2. รายได้ของสมาชิกกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10
  3. คนด้อยโอกาสพัฒนาระดับรายได้ของตนเองได้
  4. กลุ่มเป้าหมาย ร้อยละ 70  สามารถพัฒนาความรู้ตัวเองได้อย่างมีรูปธรรม 

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส