เชื่อมยุคสมัยเข้ากับภูมิปัญญาเก่าแก่ โครงการสานต่อภูมิปัญญาเครื่องเงิน เครื่องเขิน โดยวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล ที่ช่วยขับเคลื่อน ‘เครื่องเงินวัวลาย’ สู่ตลาดซื้อขายยุคใหม่

เชียงใหม่ งานหัตถกรรมและฝีมือ

ถ้าเอ่ยถึง ‘เครื่องเงิน’ ที่ขึ้นชื่อในประเทศไทย เชื่อว่าเราหลายคนจะต้องนึกถึงเครื่องเงินแถบภาคเหนือ เพราะทั้งความวิจิตรและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้ เครื่องเงินจากพื้นที่ในแถบนี้ได้รับการยอมรับจากทั้งคนไทยและต่างประเทศว่าเป็นเครื่องเงินคุณภาพดี งดงาม และมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมแถบล้านนาแฝงอยู่

ในจังหวัดเชียงใหม่ มีชุมชนหนึ่งที่ได้รับการขนานนามจากทั่วโลกว่าเป็น ‘Silver Village’ หรือหมู่บ้านเครื่องเงิน ชุมชนแห่งนั้นคือชุมชนวัวลาย ที่ตั้งอยู่ในตำบลหายยา จังหวัดเชียงใหม่ ถ้าทุกวันนี้ใครมีโอกาสได้เข้าไปในชุมชนแห่งนั้นก็จะได้พบกับร้านเครื่องเงินมากมายที่เปิดขายกันมาอย่างยาวนาน

นอกจากชื่อเสียงด้านเครื่องเงินแล้ว พื้นที่ตำบลหายยาหรือชุมชนวัวลายนี้เอง ยังเป็นต้นกำเนิดงานหัตถกรรมเครื่องเขินที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งสืบสานมาจากบรรพบุรุษชาวไทเขินยาวนานกว่า 200 ปี ส่งผลให้ชุมชนสามารถผลิต ‘สล่า’ (ช่างฝีมือ) เครื่องเงินและเครื่องเขินที่มีความเชี่ยวชาญสูง ผ่านการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น สล่าเหล่านี้สามารถออกแบบเครื่องเงินและเครื่องเขินได้อย่างมีอัตลักษณ์ โดดเด่น และดูดดึงใจได้เป็นอย่างมาก จนเกิดการรวมตัวกันของ “กลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ” ของชาวบ้านในชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์และส่งเสริมอาชีพทำเครื่องเงินและเครื่องเขิน

แต่จะทำอย่างไรให้หัตถศิลป์ มรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวล้านนาเชียงใหม่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ ท่ามกลางกระแสการค้ายุคใหม่ที่เขยิบย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้กระแสนักท่องเที่ยวและลูกค้าลดลงตามมา

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิชาการที่มีประสบการณ์มากมายในการส่งเสริมธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง จึงได้จัดทำ โครงการสานต่อภูมิปัญญาเครื่องเงิน เครื่องเขิน สู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ชุมชนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นมา เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพผ่านกระบวนการสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญานวัตกรรมชุมชนช่างฝีมือเครื่องเงินและเครื่องเขิน สำหรับผู้ที่ขาดแคลนโอกาส โดยมีการจัดทำแผนพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มคน 3 ระดับ คือ 1.ผู้เริ่มต้นเรียนรู้ 2.ผู้ประกอบการ และ 3.ผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญา โดยแต่ละกลุ่มจะมีบทเรียนที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้โครงการยังให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลของชุมชนขึ้นมาใหม่ ควบคู่ไปกับการออกแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้คนภายนอกเข้าถึงผลิตภัณฑ์และคุณค่าของชุมชนแห่งนี้ได้ง่ายขึ้น

 จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น หากเป้าหมายที่วางไว้ เกิดขึ้นได้จริง ชุมชนจะสามารถสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาจากช่างฝีมือ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมทักษะอาชีพในชุมชนให้สามารถสืบทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างเป็นระบบ เพิ่มช่องทางหารายได้ในชุมชนผ่านการตลาดออนไลน์ สู่การขยายตลาดให้กว้างขึ้น เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ และตามด้วยผลที่งอกเงยตามรายทาง เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น พัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนเอง ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสและสร้างการกระจายรายได้ในชุมชนได้ทั้งภาคบริการและท่องเที่ยว แล้วกลายเป็นผู้ประกอบการด้านเครื่องเงินและเครื่องเขินที่พร้อมต่อโลกสมัยใหม่

“เราต้องการต้องการพัฒนาทักษะอาชีพที่สร้างความเชื่อมโยง ระหว่างฐานเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนก่อเกิดเป็นกระบวนการทำงานที่ร่วมมือกันระหว่างกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นตัวชุมชนเอง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การสรรสร้างชุมชนหรือพื้นที่ทางนวัตกรรมที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเข้มแข็งให้กับทุกคน” หนึ่งในทีมงานของโครงการกล่าวทิ้งท้ายถึงปลายทางที่อยากจะให้เครื่องเงินของชุมชนวัวลาย The Silver Village นี้มีลมหายใจที่ยั่งยืนแข็งแรงต่อไปในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เราต้องการต้องการพัฒนาทักษะอาชีพที่สร้างความเชื่อมโยง ระหว่างฐานเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

สานต่อภูมิปัญญาเครื่องเงิน เครื่องเขิน สู่การพัฒนาทักษะอาชีพ ชุมชนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัด เชียงใหม่

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ดร.วรดาภา พันธุ์เพ็ง
โทร: 098-1895323

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เกิดการสร้างรายได้ เศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ตำบลหายยา จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงมีสร้างมูลค่าและการลงทุนเพิ่มให้แก่สินค้า ผลิตภัณฑ์และบริการการท่องเที่ยวในชุมชน
  2. เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ในเขตพื้นที่ตำบลหายยา จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ระบบแพลตฟอร์มการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของชุมชนโดยสามารถผลิตและพัฒนาเครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจโดยอาศัยรากฐานจากกระบวนการมีส่วนร่วมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
  3. สร้างโอกาสการกระจายรายได้ ผ่านการขายผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งเสริม การจ้างงานภาคท่องเที่ยวและบริการ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส