วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยสนับสนุนทักษะอาชีพให้กลุ่มสตรีรวมถึงกลุ่มพ่อบ้าน ด้วยการทอผ้าปกาเกอะญอและเกษตรอินทรีย์

เชียงใหม่ งานหัตถกรรมและฝีมือ

ชุมชนบ้านแม่แดดน้อย เป็นหนึ่งในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยได้รับทุนพัฒนาอาชีพทอผ้าโดยกลุ่มสตรีปกาเกอะญอในปีพ.ศ. 2562 จากกสศ. จนทำให้อาชีพทอผ้ากลายเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งในโครงการปีพ.ศ. 2562 ได้มุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มเป้าหมายที่เป็นสตรี ทั้ง แม่บ้าน เยาวชน และผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้มีต้นทุนทางความรู้ด้านการทอผ้าอยู่บ้างแล้ว สิ่งที่โครงการทำจึงเป็นการส่งเสริม ต่อยอด และยกระดับมาตรฐานฝีมือให้ทัดเทียมกับความต้องการของตลาด

โครงการในปีพ.ศ. 2562 นับว่าเป็นโครงการที่เดินไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ เนื่องจากชุมชนสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาได้ (เดอปอถู่) และกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการก็ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตขึ้นมาอย่างเป็นลำดับ

มาในวันนี้ชุมชนบ้านแม่แดดน้อยเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ที่สำคัญของโครงการฯ จึงมีความต้องการที่จะพัฒนากลุ่มพ่อบ้านในชุมชนให้เข้าถึงโอกาสเช่นเดียวกับกลุ่มสตรีบ้างหลังจากชาวบ้านร่วมกันย้อนดูต้นทุนที่ชุมชนมี ต่างเห็นพ้องกันว่ากลุ่มพ่อบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเดิมคือการทำไร่ทำสวน จึงตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาและยกระดับการทำการเกษตรทั่วไปดังกล่าวให้กลายเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์

‘โครงการส่งเสริมการเรียนรู้การประกอบการผ้าทอปกาเกอะญอและเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน’ จึงเกิดขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนา 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสตรีจากโครงการฯ เดิม ที่เคยได้รับการฝึกฝนจากปีที่แล้วต้องการต่อยอดให้มีความชำนาญในการทอผ้า แปรรูปผ้า ไปจนถึงการทำการตลาดออนไลน์และช่วยเป็นผู้สอนให้กับรุ่นต่อๆ ไป ถัดมาคือ กลุ่มสตรีกลุ่มใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มผู้พิการและกลุ่มที่มีลูกกำลังเรียนอยู่ เพื่อให้สตรีกลุ่มใหม่นี้ได้เข้าถึงโอกาส ปลดภาระหนี้สินและมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว และสุดท้ายคือ กลุ่มพ่อบ้าน ที่มีปัญหาไม่ต่างจากกลุ่มสตรี เมื่อเห็นโอกาสและเห็นแม่บ้านจากโครงการฯ ที่แล้วสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นจริงก็อยากที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการและอยากบริหารหนี้สินของครอบครัวได้

สำหรับกิจกรรมในโครงการฯ ในส่วนของกลุ่มสตรีทอผ้ายังคงยึดหลักเดิมจากโครงการที่แล้ว กล่าวคือ เน้นกิจกรรมเสริมทักษะช่องทางตลาดออนไลน์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเพิ่มปริมาณการค้าขายบนตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น พร้อมกันนั้นยังมุ่งพัฒนาให้เกิดแหล่งเรียนรู้การพัฒนาอาชีพผ้าทอปกาเกอะญอขนานคู่กันตามมา

ขณะที่กลุ่มพ่อบ้านซึ่งสนใจยกระดับตนเองเป็นเกษตรกรอินทรีย์  ทางโครงการฯ ได้ออกแบบหลักสูตรที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าผักอินทรีย์ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับผักและการจัดทำแปลงผักอินทรีย์ กิจกรรมเพิ่มทักษะอาชีพ กิจกรรมให้ความรู้เรื่องสวัสดิการและการออม กิจกรรมบริหารจัดการหนี้สิน ไปจนถึงกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติโดยชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนสามารถเป็นผู้นำและแนะนำการท่องเที่ยวในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น

นอกจากตัวหลักสูตรที่จะช่วยพัฒนาอาชีพแล้ว โครงการในครั้งนี้ยังดำเนินการพัฒนา ‘ระบบสวัสดิการชุมชน’ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนในมิติอื่นๆ อย่างยั่งยืนต่อไป เนื่องจากสวัสดิการชุมชนคือ ‘ฐาน’ อันมั่นคงที่จะช่วยดูแลคนในชุมชนด้วยกันเองให้อยู่ดีมีสุขและปลอดภัย

จากทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เมื่อชุมชนได้นำต้นทุนเดิมของชุมชนมาพัฒนาและต่อยอด ก็เปรียบเสมือนการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนให้สืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ก่อเกิดเป็นรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง สู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และหากชุมชนเข้าใจกระบวนการทั้งหลายเหล่านี้ผลลัพธ์ที่โครงการฯ คาดหวังก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม

 

เมื่อชุมชนได้นำต้นทุนเดิมของชุมชนมาพัฒนาและต่อยอด ก็เปรียบเสมือนการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนให้สืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ก่อเกิดเป็นรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ส่งเสริมการเรียนรู้การประกอบการผ้าทอปกาเกอะญอและเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย จังหวัดเชียงใหม่

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสิทธิคุณ สุภาปรีดากุล
โทร: 086 190 1418

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายจำนวน 60 คน ผ่านทักษะวิชาชีพพื้นฐานด้านการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์การเลี้ยงหอยนางรม หอยแมลงภู่ และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร
  2. กลุ่มเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถนำความรู้ไปประยุกต์สร้างอาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์การเลี้ยงหอยนางรม หอยแมลงภู่ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารได้จริง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50
  3. กลุ่มเป้าหมายจำนวน 60 คน สามารถพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
  4. เยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อยอด จำนวน 20 คน สามารถเป็นผู้ช่วยวิทยากรหรือทีมพี่เลี้ยงในการจัดการอบรม ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส