ชุมชนชายฝั่งทะเล อำเภอสิเภา จับมือกับมูลนิธิอันดามัน สร้างชีวิตวิถีใหม่ผลิตอาหารปลอดภัย

ตรัง เกษตรกรรม

ตรัง จังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดกับทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและพืชพรรณมากมาย สามารถเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งท่องเที่ยวได้ภายในเวลาเดียวกัน แต่เมื่อมีผู้คนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นทำให้การจัดสรรความสมดุลกับธรรมชาติเป็นไปได้ยาก พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ค่อยๆ ถูกทำลายลง 

หากว่าคนในพื้นที่ไม่หวงแหนถิ่นของตน แหล่งอาหารกับแหล่งที่อยู่อาศัยที่เคยมีก็อาจจะถูกทำลายลงในไม่ช้า

เช่นเดียวกับตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นชุมชนรอบอ่าวสิเกา ชาวบ้านสร้างบ้านเรือนใกล้พื้นที่ชายฝั่งและส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและทำประมงขนาดเล็ก โดยใช้เรือหัวโทงกับเครื่องมือพื้นบ้าน แต่ชาวบ้านในบริเวณนี้กลับไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ประสบปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ดี ประกอบทั้งสัตว์น้ำในทะเลลดลง ทำให้รายได้ที่เคยเลี้ยงปากท้องไม่พอ 

ที่สำคัญชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสิ่งอุปโภคบริโภคจากภายนอก เช่น การซื้อข้าวสาร ผัก ผลไม้ จากตลาดที่ไม่สามารถมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารได้ รวมถึงสิ่งที่ตนเองปลูกเพื่อขายก็ใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตทำให้ไม่ปลอดภัยเช่นเดียวกัน ปัญหาสะสมของชุมชนตำบลเขาไม้แก้วนี้ จึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

มูลนิธิอันดามัน มูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนชายฝั่งทะเล ซึ่งเล็งเห็นถึงปัญหาที่สำคัญของชุมชนตำบลเขาไม้แก้ว เข้ามาเสริมสร้างองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้นําไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านการจัดตั้ง ‘โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร สร้างชีวิตวิถีใหม่ ผลิตอาหารปลอดภัย สร้างสุขทุกมิติ’ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ 1.เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพประมงพื้นบ้านและปลูกจิตสำนึกในการประกอบอาชีพอ่างรับผิดชอบ 2.เพื่อพัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัยลดการใช้สารเคมี 3.เพื่อสร้างการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติในการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย 

จากการวิเคราะห์ของโครงการฯ พบว่าชุมชนตำบลเขาแก้วไม้มีต้นทุนเดิมที่ดีอยู่แล้วทั้งต้นทุนทางทรัพยากรคือการที่พื้นที่ชุมชนอยู่ชายฝั่ง มีป่าชายเลนล้อมรอบ มีหาดเลน หาดทรายและลำคลอง เป็นที่อยู่อาศัยของหญ้าทะเล สาหร่าย หอยต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ซึ่งถือเป็นแหล่งทำมาหากินเลี้ยงชีพของชาวบ้านได้ นอกจากนี้ชุมชนยังมีการทำเกษตร สวนยางพาราและปลูกผักในครัวเรือน ต้นทุนต่อมาคือต้นทุนทางสังคม ด้วยความที่ชุมชนเป็นแหล่งทำประมงและเกษตรกรรม ทำให้มีปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถถ่ายทอดวิชาช่างซ่อมช่างต่อเรือได้ อีกทั้งชุมชนยังมีกลุ่มวิสาหกิจและกลุ่มผู้รู้ที่ทำเกษตรอินทรีย์อีกด้วย

ดังนั้นในการจัดทำโครงการฯ จึงริเริ่มจากการมองเห็นปัญหาของชุมชน ใช้ชุมชนเป็นที่ตั้งในการพัฒนาทักษะต่างๆ จัดทำหลักสูตรเพื่อมารองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยคาดหวังให้ชาวชุมชนมีแหล่งอาหารทะเลที่ปลอดภัยเป็นของตัวเอง หากเหลือให้นำไปขายสร้างรายได้เพิ่มเติม มีกลุ่มช่างฝีมือที่มีความรู้เรื่องการประมง มีการทำเกษตรที่พึ่งพาการใช้สารเคมีน้อยลงเพื่อลดรายจ่ายให้เกษตรกร และมีที่ทำกินที่สามารถรองรับความต้องการของคนในชุมชนได้ ภายใต้เงื่อนไขการมีจิตสำนึกของคนในชุมชนทุกคน

 

โครงการจะช่วยให้ชาวชุมชนมีแหล่งอาหารทะเลที่ปลอดภัยเป็นของตัวเอง  มีกลุ่มช่างฝีมือที่มีความรู้เรื่องการประมง มีการทำเกษตรที่พึ่งพาการใช้สารเคมีน้อยลง และมีที่ทำกินที่สามารถรองรับความต้องการของคนในชุมชนได้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร สร้างชีวิตวิถีใหม่ ผลิตอาหารปลอดภัย สร้างสุขทุกมิติ

ชื่อหน่วยงาน

มูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง

จังหวัด

ตรัง

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายแพทย์ประพนธ์ โชติกมาศ
โทร: 09-4595-9394

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้เข้าร่วมโครงการ มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักและเห็นความสําคัญในการการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย
  2. พัฒนากลไกกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้าน ได้พัฒนาทักษะงานด้านช่างฝีมือ ช่างซ่อมสร้างเรือในชุมชน  การผลิตและใช้เครื่องมือประมง ให้ขนาดตาอวน  เครื่องมือ  และมีสำนึกในการประกอบอาชีพประมงอย่างรับผิดชอบ ร่วมรักษาทรัพยากรชายฝั่ง
  3. เกิดการพัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีและสร้างพื้นที่รูปธรรมในระดับครัวเรือน   และระดับกลุ่มชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส