กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละ จังหวัดปัตตานี ร่วมกันผลักดันเครื่องแกงและสินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อคนในชุมชน
จากกระแสการบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารออร์แกนิค ไร้สารพิษที่กำลังมาแรงในทุกวันนี้ ประกอบกับวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ในชุมชนเมืองที่ต้องการความสะดวกสบาย และเลือกที่จะซื้ออาหารจากข้างนอกมากกว่าการทำเอง อุตสาหกรรมหรือการดำเนินการในเรื่องของอาหาร จึงเป็นโอกาสในการสร้างงาน สร้างผลิตภัณฑ์ส่งออกสู่พื้นที่ภายนอก สร้างเงินไหลกลับแก่คนในชุมชนท้องถิ่นได้อย่างดี
เจ๊ะฆูลา (Cek Gula) คือหนึ่งในนั้น เป็นเครื่องแกงขึ้นชื่อจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จากการทดลองทำเครื่องแกงชนิดต่างๆ จนมีสูตรคงที่และเป็นสูตรเฉพาะตามต้นตำรับของชุมชน นำมาสู่การจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ตลาดให้ความสนใจมากขึ้น และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญของชุมชน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ่มเป้าหมายยังไม่สามารถมีรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืนจากการขายเครื่องแกงได้ เพราะไม่สามารถออกนอกพื้นที่และทำการตลาดอย่างจริงจังได้
เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่ม “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่ช่องทางการตลาดเครื่องแกงและสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มรายได้คนในชุมชน” จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในพื้นที่ชุมชนนีปิสกูเละ และ ชุมชนดาโต๊ะ อำเภอหนองจิก จำนวน 100 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริง โดยจะอาศัยทรัพยากรและทุนที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน เช่น ชุมชนนีปิสกูเละมีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตเครื่องแกงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ยังขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่วนชุมชนดาโต๊ะเองก็เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสำหรับทำเครื่องแกงอยู่แล้ว และมีต้นทุนและศักยภาพในการทำการเกษตรพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิดหมุนเวียนไปตามฤดูกาล แต่พืชผักสวนครัวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเหล่านั้น ยังขาดการศึกษาและการทำการตลาดที่ชัดเจน ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ อีกทั้งยังขาดระบบการบริหารจัดการที่ดี
โดยการดำเนินโครงการในครั้งนี้ จะดำเนินการเพื่อทำการตลาดให้กับสินค้าชุมชนและสินค้าทางการเกษตรของชุมชนที่อยู่ในเครือข่ายร่วมเป็นหลัก ซึ่งเริ่มต้นจากการเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงให้สอดรับกับความต้องการของตลาด และการรื้อฟื้นให้คนในชุมชนกลับมาเพาะปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้าน เพื่อบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือก็ค่อยแบ่งขายให้กลุ่มวิสาหกิจนำไปทำเครื่องแกงต่อไป
อย่างไรก็ดี หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวแล้ว ก็ถึงคราวของการพัฒนาคุณภาพเครื่องแกงสู่มาตรฐานสากล เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้ในเชิงปฏิบัติ โดยทักษะด้านนี้ ทางโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากภาคีเครือข่ายท้องถิ่น อาทิ มหาวิทยาลัยฟาฏอนีและอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี
ส่งผลให้ปัจจุบัน เครื่องแกงจากวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พริกแกงส้ม พริกแกงสำหรับผัดเผ็ด พริกแกงมัสมั่น และพริกแกงสำหรับทำราดพริก เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะชักนำไปสู่โอกาสทางอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต ควบคู่ไปกับการจัดการตลาดและช่องทางการค้าออนไลน์
ซึ่งหากโครงการสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และส่งผลให้มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องคุณภาพสินค้าและช่องทางการตลาด ก็จะทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละสามารถก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เจ๊ะฆูลา (Cek Gula) คือหนึ่งในนั้น เป็นเครื่องแกงขึ้นชื่อจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จากการทดลองทำเครื่องแกงชนิดต่างๆ จนมีสูตรคงที่และเป็นสูตรเฉพาะตามต้นตำรับของชุมชน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่ช่องทางการตลาดเครื่องแกงและสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มรายได้คนในชุมชน
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- สินค้าเครื่องแกงมีคุณภาพมาตรฐานพร้อมนำเสนอสู่ตลาดบน
- เพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนให้มีผลิตภัณท์ใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและจำหน่ายในกลุ่มต่างๆ
- เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเครื่องแกงและสินค้าการเกษตรของชุมชน
- เกิดกลุ่มและระบบการจัดการสินค้าเกษตรในพื้นที่ชุมชนดาโต๊ะ และการทำงานเชื่อมร้อยกันเชิงเครือข่าย
- ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้น
- เป็นกระบวนการรักษาภูมิปัญญาอาหารของพื้นที่ และการรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมพืช
- เกิดเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย
- คนในชุมชนมีงานทำที่บ้านเกิด ไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง