วิทยาลัยชุมชนพิจิตร ส่งเสริมให้เกษตรกรในตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล ปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ผ่านการร่วมมือกันเป็นกลุ่มอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร นั้นโด่งดังในเรื่องของข้าวและมะนาว เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมประกอบอาชีพทำนาและสวนมะนาวเป็นหลัก ส่งผลให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญในการปลูกพืชสองชนิดนี้ แม้จะมีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ บ้างตามความต้องการทางเศรษฐกิจหรือ ความสอดคล้องของสภาพความพร้อมของเกษตรกร เช่น สมุนไพร ได้แก่ ไพล ขมิ้นเหลือง ขมิ้นขาว ตะไคร้ และข่า เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งไปขายนอกพื้นที่ได้
จากการเห็นโอกาสดังกล่าว วิทยาลัยชุมชนพิจิตร จังหวัดพิจิตร จึงมีความต้องการต่อยอดการปลูกพืชสมุนไพรของคนในชุมชนตำบลท่านั่ง ให้กลายมาเป็นโอกาสทางอาชีพที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการจัดตั้ง “โครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพสู่การเป็นกลุ่มอาชีพตามวิถีพอเพียง ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร” โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้การปลูกพืชสมุนไพรแซมในสวนต้นไม้ยืนต้น จะช่วยสร้างโอกาสการประกอบอาชีพบนพื้นฐานความเป็นเกษตรกรที่มีทุนทางสังคมและทุนทางอาชีพเป็นฐานราก และสนับสนุนให้ชุมชนตำบลท่านั่งมีความเข้มแข็ง
โดยโครงการฯ ได้มีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจำนวน 65 คน จากพื้นที่ในชุมชนตำบลท่านั่ง 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านวังแดง หมู่บ้านเนินแค หมู่บ้านวังกร่าง หมู่บ้านท่านั่ง หมู่บ้านวังแดง และหมู่บ้านวังทอง โดยเริ่มแรกนั้น คณะทำงานเริ่มต้นโครงการด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการปลูกพืชสมุนไพรผ่านการร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกและการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรเป็นอย่างดี อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่านั่ง กลุ่มสมุนไพรทุ่งทรายทอง และเกษตรอำเภอโพทะเล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่านั่ง นั้นไม่เพียงจะรับบทบาทเชิงวิชาการในการมอบองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างเดียว แต่ทางโรงพยาบาลฯ เองยังรับหน้าที่เป็นตัวกลางในการหาแหล่งจำหน่ายผลผลิตจากพืชสมุนไพรอีกด้วย โดยเริ่มต้นจากการนำผลผลิตจากพืชสมุนไพรในชุมชน มาใช้ประโยชน์เพื่อรักษาและบรรเทาอาการจากโรคภัยไข้เจ็บในระดับเบื้องต้นที่โรงพยาบาลก่อน
ทว่า ด้วยข้อจำกัดของโรงพยาบาล ส่งผลให้หน่วยงานไม่สามารถเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีภารกิจที่ต้องดำเนินการหลายด้าน คณะทำงานจึงคิดค้นหาทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าว ด้วยการใช้ต้นทุนทางสังคมและสภาพแวดล้อมของชุมชน ภายใต้สมมติฐานที่ว่า วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้คนทั่วโลกเริ่มใส่ใจปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น
ดังนั้น พืชสมุนไพรจึงอาจเป็นทางเลือกที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ และกลายเป็นอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพในอนาคต ถ้าได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ ทางโครงการฯ จึงได้ทำงานร่วมกับอีกหนึ่งภาคี อันได้แก่ อุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร และกลุ่มสมุนไพรต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น กลุ่มสมุนไพรทุ่งทรายทอง เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะการแปรรูปผลผลิตจากพืชสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ที่จะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลได้ในอนาคต
พร้อมกันนั้นเอง ในกระบวนการจัดอบรมปลายทางของโครงการฯ ยังได้มีการจัดอบรมหลักสูตรการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางในการขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งหากโครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ และสร้างเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ให้กลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังจะช่วยสนับสนุนให้คนในชุมชนเกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวและสังคมท้องถิ่น ให้มีความมั่นคงจากการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“โครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพสู่การเป็นกลุ่มอาชีพตามวิถีพอเพียง ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร” โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้การปลูกพืชสมุนไพรแซมในสวนต้นไม้ยืนต้น จะช่วยสร้างโอกาสการประกอบอาชีพบนพื้นฐานความเป็นเกษตรกรที่มีทุนทางสังคมและทุนทางอาชีพเป็นฐานราก และสนับสนุนให้ชุมชนตำบลท่านั่งมีความเข้มแข็ง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพสู่การเป็นกลุ่มอาชีพตามวิถีพอเพียง ตำบลท่านั่ง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสการประกอบอาชีพบนพื้นฐานความเป็นเกษตรกร ที่มีทุนสังคม ทุนอาชีพตามวิถีพอเพียง เพิ่มทักษะทางอาชีพด้านการเกษตร การปลูกพืชสมุนไพรที่เป็นไปตามมาตรฐาน การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากพืชสมุนไพรในท้องถิ่นเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และเกิดการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการชุมชน จนถึงวิสาหกิจชุมชน และมีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานด้านสุขภาพ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้มีสุขภาพที่ดี พัฒนาคุณภาพชีวิตในครอบครัว และพัฒนาคุณภาพสังคมท้องถิ่น ให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิตวิถีพอเพียง