การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร สู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS เพื่อยกระดับศักยภาพของเกษตรกรไทยสู่มาตรฐานสากล
‘ระบบชุมชนรับรอง’ หรือ PGS (Participatory Guarantee Systems) คือการรับรองมาตรฐานของเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่งที่เป็นการรับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นการดำเนินการโดยผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ถูกริเริ่มขึ้นโดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติกับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ที่มีความเห็นร่วมกันว่า ระบบการรับรองมาตรฐานของเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่เหมาะกับเกษตรกรที่ผลิตเพื่อขายในท้องถิ่น เนื่องจากองค์กรอิสระมีระเบียบข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวดเกินความจำเป็น
ด้วยกลไกที่ไม่ซับซ้อน ทำให้ระบบชุมชนรับรองกลายเป็นที่สนใจของเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงเกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง อย่างจังหวัดพิจิตร ส่งผลให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีชุมชนเกษตรอินทรีย์ เกษตรกร และผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 24 ราย และหน่วยงานราชการและเอกชนในท้องถิ่นอีก 11 หน่วยงาน ร่วมกันเข้าระบบชุมชนรับรองดังกล่าว และได้รับการรับรองว่าประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการรับรองจาก RL-PGS (Rajamangala University of Technology Lanna-Participatory Guarantee Systems)
ซึ่งความสำเร็จข้างต้น กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เครือข่ายการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมระบบชุมชนรับรอง RL-PGS จังหวัดพิษณุโลก นั้นริเริ่ม “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร” ขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าสามารถต่อยอดกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตรได้ อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายบางส่วนยังเคยผ่านการอบรมการจัดทำระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS มาแล้ว
โดยเหตุดังกล่าว คณะทำงานจึงเชื่อมั่นว่า การเตรียมตัวให้กลุ่มเป้าหมายมีศักยภาพที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งในภาคเกษตรกรรมให้สอดรับกับกระแสปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร ทำให้การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารจากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงความมั่นคงในชีวิตของกลุ่มเป้าหมายในอนาคต
ทั้งนี้ การเตรียมตัวดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS มีรายละเอียดยิบย่อย จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายมากมาย ในการเป็นที่ปรึกษาและแนะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแหลมโพธิ์ สำนักงานเกษตร จังหวัดพิษณุโลก และ สภาเกษตรกร จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น
โดยหลังจากที่กลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการลงพื้นที่เพื่อตรวจดูฟาร์มของเกษตรกรในกลุ่มเป้าหมาย ว่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่จะได้รับการรับรองมากหรือน้อยเพียงใด พร้อมทั้งในขณะเดียวกัน ทางโครงการฯ ก็มีการแนะแนวทางในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตที่ได้จากเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการจัดหาแหล่งกระจายสินค้าให้อีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนและให้คำปรึกษาจาก องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และโรงแรมรัตนปาร์ค
อย่างไรก็ดี คณะทำงานเชื่อมั่นว่า การดำเนินงานในฐานะเครือข่ายเพื่อการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกที่สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่ระบุให้ ‘ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันร่วมกับประเทศอื่น ๆ ได้ในระบบเศรษฐกิจโลก
การดำเนินงานในฐานะเครือข่ายเพื่อการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจร ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม RL-PGS ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- ผู้ด้อยโอกาสสามารถวางแผนการผลิตให้ตรงความต้องการของตลาดได้
- ผู้ด้อยโอกาสสามารถจัดการฟาร์ม และจัดเตรียมเอกสารเพื่อขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ RL-PGS ได้
- ผู้ด้อยโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10