แปรรูป ‘ไม้ไผ่’ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ทั้งต้น เมื่อรู้จักห่วงโซ่ครบวงจร

แม่ฮ่องสอน การบริการและการท่องเที่ยว

อำเภอปาย เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในอำเภอปาย ได้แก่ “โขกู้โส่” อันหมายถึง สะพานบุญ ซึ่งเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ชนพื้นเมืองชาวไทใหญ่ ในหมู่บ้านแพมบก ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้น เพื่อให้พระสงฆ์สามารถบิณฑบาตรได้โดยไม่เหยียบย่ำนาข้าวของชาวบ้าน สะพานไม้ไผ่แห่งนี้ไม่เพียงจะช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ สามารุดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่จากการจำหน่ายสินค้าและอาหาร

จากสะพานไม้ไผ่ที่ชนพื้นเมืองร่วมกันสร้างขึ้นมา ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านในอำเภอปาย นำไม้ไผ่ซึ่งเป็นไม้ที่มีอยู่จำนวนมากในท้องถิ่น มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ร่วมกับผู้นำชุมชน ได้เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาอาชีพของชุมชน ผ่านโครงการส่งเสริมการเรียนรู้การบริการด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่เพื่อเพิ่มรายได้จาการท่องเที่ยวสำหรับชุมชนชาติพันธุ์ ด้วยการสร้างหลักสูตร Bamboo Value Chain เพื่อให้ชาวบ้านรู้จักห่วงโซ่ของไม้ไผ่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สามารถนำทรัพยากรภายในท้องถิ่นที่มีอยู่จำนวนมากมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำความรู้จากปราชญ์ชุมชนด้านการจักสานไม้ไผ่มาเผยแพร่ให้กับชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้ท้องถิ่นยังคงสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น และจัดการอบรมเพื่อขยายทักษะในการประกอบอาชีพด้วยการจัดหลักสูตรอบรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปไม้ไผ่ เช่น การยืดอายุการใช้งาน การออกแบบ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ สามารถนำไปจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ของใช้ในร้านค้าชุมชน และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมไปถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ชุมชนไปจำหน่ายในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นการช่วยให้เกิดการพัฒนาอาชีพบนพื้นฐานการจัดการท่องเที่ยวโดยกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ชาวบ้านในอำเภอปายยังให้ความสนใจในการประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ใช้ในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ เช่น การนวดแผนไทย จึงได้มีการจัดอบรมหลักสูตรการนวดเพื่อสุขภาพ เตรียมรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยี่ยมเยือน และด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะนำพืชผักปลอดสารพิษมาประกอบอาหารท้องถิ่นไทใหญ่ สร้างเอกลักษณ์ให้กับพื้นที่ และสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย มากไปกว่านั้น ชุมชนยังจะได้เพิ่มพูนความรู้ทักษะการบริหารจัดการสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้สามารถเป็นผู้ประกอบการในยุค 4.0 ผ่านการอบรมเรื่องการสร้างทักษะสังคมส่วนบุคคล การวางแผนทางการตลาด การวางแผนทางการเงิน เป็นต้น รวมไปถึงการใช้งานแอปพลิเคชั่นที่สามารถใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติ การใช้สื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ อาทิ การตัดต่อวีดีโอ เทคนิคการถ่ายภาพ การลงวีดีโอผ่านยูทูป (YouTube)

การตั้งต้นของชาวบ้านในอำเภอปาย ได้กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้กับชุมชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการสร้างอาชีพจากการนำวัตถุดิบในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นการช่วยส่งเสริมการสร้างงานให้กับชาวบ้าน และสร้างรายได้ให้หมุนเวียนภายในชุมชน ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพใหม่ที่สามารถรองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

จากสะพานไม้ไผ่ที่ชนพื้นเมืองร่วมกันสร้างขึ้นมา ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านในอำเภอปาย นำไม้ไผ่ซึ่งเป็นไม้ที่มีอยู่จำนวนมากในท้องถิ่น มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้กับชุมชน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้การบริการด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวสำหรับชุมชนชาติพันธุ์

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

จังหวัด

แม่ฮ่องสอน

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายนพรัตน์ สิทธิโชคธนารักษ์
โทร: 086-6589139

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายเกิดทักษะในการประกอบอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่และการนวดเพื่อสุขภาพ
  2. กลุ่มเป้าหมายร้อยละ 70 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดจำหน่ายสินค้าและการให้บริการเพื่อสุขภาพ 
  3. เกิดกลุ่มองค์กรชุมชน ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส