สมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดลำพูน เร่งส่งเสริมความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย ให้มีความแข็งแรง มั่นคง และยั่งยืน

ลำพูน เกษตรกรรม

จังหวัดลำพูนมีเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 23.79 ของเนื้อที่ทั้งจังหวัด แต่เดิม เกษตรกรนิยมปลูกพืชล้มลุกระยะสั้น เช่น กระเทียม หอมแดง และกะหล่ำปลี ควบคู่กับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างการปลูกไม้ผล โดยเฉพาะลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดลำพูน 

แต่การทำการเกษตรส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมี เพื่อเร่งการเจริญเติบโต และกำจัดศัตรูพืช ทำให้มีต้นทุนสูง ในขณะที่บางฤดูกาล ราคาผลผลิตกลับตกต่ำอย่างน่าใจหาย ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะหนี้สิน และทำให้ตัวเกษตรกรมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านสุขภาพ จากการสัมผัสสารเคมีอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การใช้สารเคมียังกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ด้วยเหตุนี้ สมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดลำพูน จึงต้องการผลักดันโครงการส่งเสริมการเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรรายย่อยขึ้น เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 87 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยจากพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำพูน อำเภอแม่ทา อำเภอบ้านธิ และอำเภอทุ่งหัวช้าง ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรมาเป็นเกษตรอินทรีย์ 

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ล้วนมีต้นทุนและศักยภาพในด้านการเกษตรเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทว่า ที่ผ่านมายังขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านความรู้ เทคนิควิธีการ การเชื่อมโยงเครือข่ายในการจัดการด้านการตลาด และการแปรรูปต่างๆ ทำให้พวกเขามองว่า การทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องยากและสิ้นเปลือง ทั้งที่ความจริงแล้ว เป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม

คณะทำงานจะเริ่มจากการจัดการประชุม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการขับเคลื่อนโครงการ และหาข้อสรุปร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้พวกเขาเห็นภาพองค์รวมว่า วิถีเกษตรอินทรีย์มีข้อดีและมีประโยชน์มากกว่าวิถีเกษตรรูปแบบเดิมอย่างไร จากนั้นจึงจัดกิจกรรมการอบรมเรื่องความรู้พื้นฐานด้านการทำเกษตรอินทรีย์ เทคนิคการจัดการผลิต การใช้วัตถุอินทรีย์ทดแทนสารเคมีในการเกษตร และการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถบริหารกิจการได้อย่างครบวงจร  

นอกจากการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว โครงการยังมุ่งเน้นให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะการบริหารจัดการในฐานะของผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องมีความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้เท่าทันนวัตกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบการจัดการน้ำในแปลงเกษตร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมและทันสมัย เช่น การตลาด หรือการใช้ระบบ QR Code เป็นต้น

ทั้งนี้ การอบรมทักษะต่างๆ ข้างต้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นที่สำคัญๆ อาทิ เทศบาลเมืองลำพูน ที่ช่วยสนับสนุนการจัดทำตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ริมกวง เพื่อทำเป็นศูนย์กลางของตลาดเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดลำพูน, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ที่ช่วยเปิดตลาด ‘กาดก้อมหริภุญชัย’ เป็นที่รองรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก, เทศบาลตำบลบ้านธิ ที่ช่วยสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในชุมชนบ้านป่าเหียง, และโรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านธิ ที่ช่วยรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปเป็นอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน

ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ นอกจากเกษตรกรรายย่อยจะสามารถเข้าถึงความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว ยังจะสามารถช่วยลดปัญหาที่เรื้อรังอยู่ภายในชุมชน เช่น ปัญหาเรื่องภาวะหนี้สิน ได้อีกด้วย เพราะเมื่อกลุ่มเป้าหมายสามารถลดต้นทุนด้านการทำเกษตรลงได้ ก็หมายความว่าพวกเขาจะมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น อีกทั้งผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ ยังสามารถเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งการรู้จักพึ่งพาตัวเองเช่นนี้ จะผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายก้าวเข้าไปสู่ชีวิตที่แข็งแรง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป 

นอกจากการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว โครงการยังมุ่งเน้นให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะการบริหารจัดการในฐานะของผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องมีความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้เท่าทันนวัตกรรมต่างๆ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ส่งเสริมการเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรรายย่อย

ชื่อหน่วยงาน

สมาคมเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดลำพูน

จังหวัด

ลำพูน

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางวันเพ็ญ พรินทรากูล
โทร: 086-9247561

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเป้าหมาย มีทักษะความรู้ สามารถทำการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ได้ตามมาตรฐานของกลุ่ม
  2. เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเป้าหมาย มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และสามารถสร้างรายได้ 
  3. เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเป้าหมาย เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน สามารถพัฒนาเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดลำพูน 

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส