ชุมชนหนองสนิทแก้ปัญหานักเรียนและประชาชนขาดผักคุณภาพกิน ด้วยการตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อปลูกผักส่งเข้าโรงเรียนและจำหน่ายในตำบล

สุรินทร์ เกษตรกรรม

เมื่อพูดถึงการเริ่มต้นพัฒนาชุมชน หลายครั้งเราอาจนึกไปถึงเรื่องใหญ่โตอย่างการมีนโยบายลงมาจากภาครัฐ หรือการวางกลยุทธ์ทำแบบสำรวจเพื่อหาความต้องการที่แท้จริง แน่นอนขั้นตอนและกระบวนการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่หลายครั้งการพัฒนาที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ก็สามารถมีจุดเริ่มต้นจากคนในชุมชนเองได้เหมือนกัน

ตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เป็นตำบลที่มีโรงเรียนประถมอยู่ถึง 5 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 1 แห่ง ซึ่งแหล่งเรียนรู้รวมทั้ง 6 แห่งนี้ มีการใช้งบประมาณเพื่อเป็นค่าอาหารกลางวันปีละเกือบ 3 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ส่วนใหญ่ถูกใช้จ่ายไปกับการสั่งซื้อพืชผักจากต่างตำบล ต่างอำเภอ เพราะพืชผลการเกษตรของคนในชุมชนเองมีจำนวนไม่พอต่อความต้องการ ทำให้เงินหลายล้านต้องรั่วไหลออกจากตำบล รวมทั้งร้านค้าในตำบลมีการซื้อผักจากข้างนอกมาจำหน่ายในชุมชนที่ไม่รู้ว่าผักนั้นมีความปลอดภัยหรือไม่

จากปัญหานี้ทำให้อบต.หนองสนิท พยายามหาวิธีแก้ปัญหาเงินทุนที่รั่วไหล เพื่อทำให้มันกลับหมุนเวียนและเกิดประโยชน์กับคนในชุมชนของตัวเอง ซึ่งวิธีแก้ปัญหาจะมีวิธีไหนดีไปกว่าการเพิ่มจำนวนของเกษตรที่มีคุณภาพขึ้นมาในตัวตำบลแล้วจับจ่ายไปกับคนเหล่านั้นแทน

อบต.จึงได้รวบรวมผู้คนในชุมชนที่สนใจอยากมาร่วมกันแก้ปัญหาภายใต้ ‘โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร’ จนเกิดเป็น ‘กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยตำบลหนองสนิท’ ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่จะร่วมกันทำการฝึกฝนทักษะจนสามารถผลิตพืชผลคุณภาพสูงเข้าสู่โรงเรียนและชุมชน ทำให้เงินทุนที่เคยรั่วไหลออกไปจากชุมชนกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับคนภายใน

สิ่งที่น่าสนใจคือผู้คนที่เข้ามาร่วมกลุ่มเกษตรกรนี้ไม่ได้มีเพียงเกษตรกรธรรมดาทั่วไป แต่มีทั้งคนยากไร้ คนด้อยโอกาส ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้พิการ และเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยพวกเขาจะได้รับการฝึกฝนทักษะและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอจอมพระ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของอบต.หนองสนิท และเกษตรกรต้นแบบที่มีความรู้ทักษะด้านการทำเกษตรอินทรีย์ในตำบลที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทั้งด้านความรู้ อุปกรณ์ และสถานที่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยฯ กลุ่มนี้

องค์ความรู้สำคัญที่กลุ่มเกษตรจะได้เรียนรู้จากโครงการนี้คือการวางแผนการปลูกตามปฏทินการปลูกที่สอดคล้องกับเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียน การบริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน การผลิตพืชผลในระบบเกษตรอินทรีย์ การใช้เทคโนโลยีการเกษตร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการพัฒนาให้กลุ่มฯ กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ของตำบล

เคสตัวอย่างจากตำบลหนองสนิท เป็นเคสตัวอย่างที่น่าสนใจในด้านการพัฒนาที่มีจุดเริ่มต้นจากคนในชุมชน จนเกิดเป็นทางออกที่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอาหารกลางวันของโรงเรียนและสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยในตำบลได้แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพิ่มเงินที่ไหลเวียนในกลุ่มของชาวบ้าน ทั้งยังได้เกิดเป็นกลุ่มเกษตรกรที่แข็งแรงขึ้นตามมาอีกด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร

ชื่อหน่วยงาน

องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท

จังหวัด

สุรินทร์

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสมเกียรติ สาระ
โทร: 089-2813157

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. เกิดคณะทำงานด้านการส่งเสริมอาหารปลอดภัย
  2. เกษตรกรมีความรู้ทักษะในการผลิตอาหารปลอดภัย
  3. ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพและสามารถจำหน่ายได้โดยเชื่อมกับเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียน
  4. เกิดพื้นที่ต้นแบบด้านการผลิตอาหารปลอดภัย

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส