วิทยาลัยชุมชนปัตตานีออกแบบหลักสูตรสร้างอาชีพที่มีที่จุดเริ่มจากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน

ปัตตานี งานช่าง

ถ้าคุณรู้จักปัตตานีจริงๆ คุณจะรู้ว่าปัตตานีเป็นจังหวัดที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรม มีทั้งสถานที่ทางประวัติศาสตร์และสถานที่ทางธรรมชาติที่สวยงาม ในระยะหลังมานี้ นักท่องเที่ยวหลายคนจึงได้นิยมเดินทางไปยังปัตตานีเพื่อสำรวจและชื่นชมความงามอันไม่เหมือนใครของจังหวัดทางใต้นี้

แต่ปัตตานีก็เหมือนกับอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยของเรา ที่ความเหลื่อมล้ำและความยากจนยังคงเป็นปัญหาหลักของคนในพื้นที่ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดการองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน จึงได้พยายามหาทางออกเพื่อแก้ปัญหานี้

ในช่วงแรกของการแก้ปัญหา วิทยาลัยชุมชนได้ทำการลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาของแรงงานในจังหวัดปัตตานี และก็ได้พบว่าปัญหาหลักมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ 1.ประชากรขาดทักษะวิชาชีพ 2.ปัญหาการว่างงาน 3.ประชาการส่วนใหญ่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเหตุปัจจัยทั้งสามข้อนี้ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการสร้างอาชีพเพื่อเข้าถึงรายได้ โดยพื้นที่ในตำบลยะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มแรงงานด้อยโอกาสเหล่านี้อยู่มากที่สุด

โครงการ ‘ปัญหารายได้กลุ่มแรงงานชุมชนตำบลจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี’ จึงเกิดขึ้นมาโดยมีเป้าประสงค์ที่จะยกระดับชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ วิทยาลัยชุมชนปัตตานีจึงได้ร่วมมือกับองค์กรในชุมชนอย่าง วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยการอาชีพ เพื่อช่วยกันจัดสรรองค์ความรู้ รวมถึงสถานที่และอุปกรณ์ในการอบรม

เพื่อการแก้ปัญหาด้านแรงงานอย่างตรงจุด กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าอบรมในโครงการจะต้องเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลจะรัง รวมทั้งสิ้น 150 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะได้รับการอบรมในทักษะอาชีพ 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1.ทักษะงานช่าง ซึ่งเป็นทักษะอาชีพทั่วไปที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ง่าย โดยทางวิทยาลัยชุมชนได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดอบรมทักษะอาชีพ ตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีมุสลิมสมัยนิยม  ช่างตัดผมชาย นวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง โดยช่วงท้ายของการเรียนจะมีการฝึกภาคสนามเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานจริง

2.ทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากก้านจาก   ซึ่งเป็นอาชีพที่สอดคล้องกับทรัพยากรในพื้นที่ชุมชนบ้านจะรัง เพราะที่นี่เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยพืชผลทางการเกษตรมากมาย ซึ่งเหมาะแก่การใช้เป็นอาหารสำหรับผึ้งชันโรง โดยน้ำผึ้งชันโรงเป็นน้ำผึ้งที่อร่อย หอม มีคุณภาพ และสามาถนำไปบรรจุขวดเพื่อจัดจำหน่ายเป็นน้ำผึ้ง หรือจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าก็ได้เช่นกัน

3.ทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ต้นตาลเป็นต้นไม้สารพัดประโยชน์ แทบทุกส่วนของมันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ซึ่งในตำบลจะรังมีตาลปลูกอยู่มากในพื้นที่ ทำให้มันเป็นทรัพยากรที่ชุมชนไม่ต้องลงทุนใดๆ เพิ่มเติม แต่สิ่งที่คนในชุมชนขาดคือองค์ความรู้ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นตาลให้มีมูลค่าสูงขึ้น การอบรมในวิชานี้จึงน่าจะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี

เป็นเรื่องน่าสนใจที่วิทยาลัยชุมชนได้ดึงเอา ‘ศักยภาพ’ ที่มีอยู่แล้วในชุมชนอย่างผลผลิตทางการเกษตร และต้นตาลโตนด มาเป็นรากฐานของการพัฒนา ซึ่งโครงการก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้กับผู้ที่เข้ามาอบรมว่า เมื่อผ่านการฝึกฝนทักษะออกไปแล้ว พวกเขาจะต้องสามารถสร้างโอกาสให้กับตัวเองผ่านทักษะที่ได้เรียนรู้มาและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยหวังว่าจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากชุมชนจะเป็นแรงกระเพื่อมให้ปัตตานีเกิดการพัฒนาและสามารถสร้างภาพจำใหม่ๆ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวหรือคนทั่วไปได้รู้จักปัตตานีในแง่มุมที่สวยงามมากขึ้น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ปัญหารายได้กลุ่มแรงงานชุมชนตำบลจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนปัตตานี

จังหวัด

ปัตตานี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: รองศาสตราจารย์เทพกร พิทยาภินันท์
โทร: 081 – 4780126

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส