วิทยาลัยชุมชนปัตตานีออกแบบหลักสูตรสร้างอาชีพที่มีที่จุดเริ่มจากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน

ปัตตานี งานช่าง

อาชีพหลักของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวาน จังหวัดปัตตานี ส่วนใหญ่คือเกษตรกรรม ด้วยมีแหล่งทรัพยากรและของดีเฉพาะถิ่นที่หลากหลาย เช่น ลองกอง ยางพารา ปลากุเลา ทว่าด้วยราคาผลผลิตที่ผันผวนและตกต่ำลงทุกปี ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้การค้าขายเป็นไปอย่างยากลำบาก รายได้ที่เคยมีเริ่มลดน้อยลง ประชาชนจำนวนมากประสบปัญหาว่างงาน โดยข้อมูลการว่างงานรวมของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนพบว่า จังหวัดปัตตานีมีอัตราการว่างงานสูงเป็นอันดับ 1 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ด้วยวิสัยทัศน์ของวิทยาลัยชุมชนปัตตานี ที่ไม่เพียงมุ่งเป็นผู้นำด้านการจัดการศึกษา แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำ “โครงการปัญหารายได้กลุ่มแรงงานชุมชนตำบลจะรัง จังหวัดปัตตานี” โดยหวังส่งเสริมประชาชนกลุ่มแรงงานให้มีองค์ความรู้และทักษะเพื่อพัฒนาตนเอง สามารถยึดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายคนยากจน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งส่วนที่เรารับผิดชอบมีทั้งหมด 12 อำเภอ

เมื่อโจทย์ใหญ่ของคนในพื้นที่คือการว่างงาน วิทยาลัยชุมชนปัตตานีจึงมุ่งส่งเสริมทักษะวิชาชีพ โดยอาศัยความต้องการและฐานศักยภาพของชุมชนที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ หลังจากได้มีการลงพื้นที่ ทำแบบสำรวจแล้วเสร็จ โครงการฯ จึงพบว่า กลุ่มเป้าหมายและหน่วยพัฒนาอาชีพเองต่างเห็นตรงกันที่จะเรียนรู้ มอบองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ 5 อาชีพ ได้แก่ ช่างตัดผม นวดเพื่อสุขภาพ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี งานจักสานจากก้านจาก และผลิตภัณฑ์อาหารจากตาลโตนด 

เมื่อได้วิชาชีพที่ต้องการแล้ว ทางวิทยาลัยชุมชนปัตตานีก็เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี 

สำหรับระยะเวลาในการอบรมของแต่ละหลักสูตรจะไม่เท่ากัน โดยหลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพใช้เวลา 110 ชั่วโมง ช่างตัดผมชาย 75 ชั่วโมง ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี 75 ชั่วโมง (มี 2 รุ่น) ผลิตภัณฑ์อาหารจากตาลโตนด 72 ชั่วโมง และหลักสูตรจักสานก้านจาก 62 ชั่วโมง ทั้งนี้ทุกหลักสูตรจะอบรมที่สำนักงานบริหารราชการตำบลจะรัง ยกเว้นหลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพจะเรียนที่วิทยาลัยชุมชนปัตตานี

มีเนาะ อาแด หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่เข้าอบรมการจักสานก้านจาก เล่าถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการว่า “การเรียนจากโครงการสามารถสร้างรายได้ได้จริง โดยตอนนี้ออร์เดอร์ส่วนใหญ่จะเป็นตะกร้า ซึ่งขายได้ตกวันละ 2 ชิ้น สร้างรายได้ต่อเดือนราว 1,000 – 2,000 บาท”

ทั้งนี้ หลังจากการอบรมในแต่ละหลักสูตรเสร็จสิ้นแล้ว วิทยาลัยชุมชนปัตตานียังได้จัดการอบรมทักษะชีวิต 3 เรื่อง ได้แก่ การจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารจัดการกลุ่ม และเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งยังพาไปศึกษาดูงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็โครงการได้จบลง หน่วยงานพัฒนาก็ได้เล็งเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายยังคงกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป เนื่องจากเห็นประโยชน์ของทักษะที่ได้เรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือมีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นและสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากกว่าก่อน ซึ่งนับว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการพัฒนาบุคลากรในชุมชนให้กลับมาเห็นความสำคัญของต้นทุนใกล้ตัว และยังเป็นเรื่องน่าติดตามว่าในอนาคต กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้จะสามารถพัฒนาทักษะของตัวเองเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นได้อีกมากน้อยเพียงใด

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ปัญหารายได้กลุ่มแรงงานชุมชนตำบลจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนปัตตานี

จังหวัด

ปัตตานี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: รองศาสตราจารย์เทพกร พิทยาภินันท์
โทร: 081 – 4780126

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส