เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่สอง! ม.นครพนมเปิดหลักสูตรซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในสถานพินิจฯ พร้อมสนับสนุนต่อจนถึงมืออาชีพ

นครพนม งานช่าง

การที่ใครคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ ‘ความขยัน’ ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญแต่เพียงอย่างเดียว ‘โอกาส’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน โอกาสจึงเป็นของล้ำค่าอย่างยิ่งสำหรับคนทุกคน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เคยพลาดพลั้งในชีวิต อย่างเช่น เด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของสถานที่พินิจฯ เพราะโอกาสในการกลับตัวกลับใจนั้น เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้พวกเขาได้กลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพื่อค้นหา ‘ความสำเร็จ’ ของตัวเอง

หน้าที่สำคัญของสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจึงเป็นการเตรียมความพร้อมคนในศูนย์สำหรับโอกาสที่สอง ซึ่งการเตรียมพร้อมนั้นถูกแบ่งออกมาเป็นหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ ด้านการวางแผนชีวิต และด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งการฟื้นฟูอบรมด้านจิตใจและการวางแผนชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่สถานพินิจฯ มีความถนัดและชำนาญอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นด้านการงานอาชีพ หลายครั้งสถานพินิจฯ ก็จำเป็นจะต้องไปจับมือกับแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเสริมองค์ความรู้ในรูปแบบที่ลึกซึ้ง เข้มข้นมากขึ้น

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษาที่มีองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและวิศวกรรม จึงได้ผุดโครงการทำงานร่วมกับสถานพินิจฯ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ อุปกรณ์ และสถานที่ให้กับหน่วยงาน ภายใต้ชื่อ ‘โครงการพัฒนาทักษะแรงงานอาชีพการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยแก่แรงงานด้อยโอกาสพื้นที่จังหวัดนครพนม’

ทำไมต้องเป็นทักษะซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า?

คำตอบคือ เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่มีวันตาย! ในทุกๆ ครัวเรือนต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าวันหนึ่งอุปกรณ์เหล่านั้นจะต้องชำรุดและเสียหาย การมีทักษะซ่อมแซมและบำรุงรักษาเอาไว้จึงเป็นประโยชน์ ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ด้วย

โครงการพัฒนาทักษะแรงงานอาชีพการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ มีโควตาในการรับสมัครผู้ที่สนใจทั้งสิ้น 150 คน โดยผู้ที่เข้าเข้าอบรมจะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อหลัก คือ 1.เป็นเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจฯ นครพนม 2.มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และสิ่งที่สำคัญคือข้อ 3.จะต้องมีความสนใจในทักษะอาชีพนี้อย่างแท้จริง

หลักสูตรของโครงการมีความพิเศษคือเป็นการร่วมวางแผนของหลากหลายองค์กร คือ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม  สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนนครพนม สำนักงานคุมประพฤติ นครพนม  สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน นครพนม สภาเด็กและเยาวชน นครพนม และผู้ประกอบการร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้มั่นใจได้ว่าทักษะที่สอนในหลักสูตรเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจริงๆ โดยการอบรมจะเริ่มสอนตั้งแต่พื้นฐานด้านไฟฟ้าไปจนถึงการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง

นอกจากนี้เมื่อนักเรียนมีทักษะที่ชำนาญมากเพียงพอ ก็จะมีการจัดกิจกรรมให้บริการซ่อมแซมกับชุมชนโดยรอบสถานพินิจฯ นครพนม และสำนักงานคุมประพฤติ นครพนม  อย่างน้อย 1 ครั้งก่อนจบหลักสูตร เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ที่สอดคล้องกับหลักสูตรที่ให้นักเรียนต้องลงมือปฏิบัติงานในสนามจริง

การหยิบยื่นทักษะอาชีพให้กับเยาวชนที่เคยพลาดพลั้งคือเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะทำให้เขาได้นำไปเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะเมื่อเขาได้รับโอกาสในการออกไปสู่สังคมปกติ เขาจะได้มีพื้นฐานในการสร้างอาชีพอย่างสุจริต และไม่ต้องหันกลับไปใช้ชีวิตในทางที่ผิดอีก ซึ่งภายหลังจากจบโครงการทางมหาวิทยาลัยจะมีการคัดเลือกตัวเยาวชนที่มีทักษะและความสนใจในอาชีพนี้จริงๆ ไปอบรมเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดทักษะจนสามารถสอบใบประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าได้ โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ช่วยดูแลเยาวชนในสถานพินิจฯ อย่างใกล้ชิดและจริงจัง เพื่อพาพวกเขากลับมาสู่การตามหาความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาเอง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะแรงงานอาชีพการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย แก่แรงงานด้อยโอกาสพื้นที่จังหวดนครพนม

ชื่อหน่วยงาน

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม

จังหวัด

นครพนม

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์
โทร: 081-9645607

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 150 คน มีทักษะความรู้ด้านการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและสามารถซ่อมเครื่องไฟฟ้าพื้นฐานในครัวเรือนได้เอง
  2. ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 150 คนมีทักษะความรู้ด้านการตรวจสอบและซ่อมบำรุง ระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย สามารถไปตรวจเช็คระบบไฟฟ้าที่บ้านพักอาศัยของตนเองได้
  3. ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 150 คนมีทักษะความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวคิดและทัศนคติ มุมมอง การดำรงชีวิตยุคการเปลี่ยนแปลง
  4. ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 150 คนมีทักษะความรู้ ความเข้าใจ ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเองได้อย่างน้อย 1 ชิ้น
  5. สามารถพัฒนาทักษะแรงงานด้อยโอกาสพื้นที่จังหวัดนครพนม ให้มีความรู้ความสามารถและได้รับสิทธิการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส