ยุติความเหลื่อมล้ำในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ผ่านโครงการพัฒนาอาชีพทอผ้าท้องถิ่นที่ทำให้กลุ่มสตรีฯ เหนียวแน่นกันมากขึ้น

ขอนแก่น งานหัตถกรรมและฝีมือ

พื้นที่บริเวณชายแดนของประเทศไทย ถือเป็นพื้นที่ที่รวมความหลากหลายของผู้คนไว้จำนวนมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นชายแดนทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก หรือ ตะวันตก ต่างก็เป็นพื้นที่ที่มีเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธ์ุอาศัยอยู่มาแต่เดิม เช่นเดียวกันพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาสูงสลับซับซ้อนที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ

ประชากรในอำเภอกัลยาณิวัฒนานั้น ประกอบไปด้วยพี่น้องชนเผ่าหลากหลายกลุ่ม โดยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 95 คือชาวปกาเกอะญอ ส่วนอีกร้อยละ 5 ที่เหลือแบ่งเป็นชาวม้งและชาวลีซู โดยประชากรในอำเภอส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร รับจ้าง และงานฝีมือ

อำเภอกัลยาณิวัฒนาถือเป็นอำเภอใหม่ที่เพิ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2552 ทำให้ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งย่อมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ความยากลำบากที่ภาครัฐไม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา อย่างเช่น ปัญหาคนว่างงาน การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในกลุ่มของสตรีชาวปกาเกอะญอ

งานส่วนใหญ่ที่กลุ่มสตรีฯ ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพคือการทอผ้า แต่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดมากมายด้านการทำงาน ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาอาชีพของพวกเธอ เช่น ขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสม ขาดองค์ความรู้ในการการออกแบบที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า การไม่มีเงินต้นทุนเพื่อซื้อผ้ามาทอ เป็นต้น

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสินค้าบ้านแม่แดด เป็นองค์กรที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นของชุมชนแห่งนี้ จึงได้ออกแบบโครงการ ‘การพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์’ ขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่กลุ่มสตรีชาวปกาเกอะญอต้องพบเจอ

โครงการนี้จะดำเนินงานใน 3 ตำบลของอำเภอกัลยาณิวัฒนา คือ 1.ตำบลแม่แดด 2.ตำบลแม่จันทร์ 3.ตำบลแจ่มหลวง โดยจะทำการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มสตรีปกาเกอะญอที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์มาชุมชนละ 50 คน ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มเครือข่ายฯ รวมทั้งหมดเป็นจำนวน 150 คน

สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทุกคนจะได้รับการฝึกฝนอบรมทักษะอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญตลอดทุกกระบวนการ ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ กล่าวคือเป็นการเรียนรู้ตั้งแต่ความเป็นมาของผ้าทอปกาเกอะญอ การพัฒนาและปรับปรุงวิธีการทอ การย้อมสีเส้นด้าย การออกแบบลายผ้าปกาเกอะญอโบราณและร่วมสมัย ไปจนถึงการบริหารจัดการกลุ่มและวิธีทำตลาดเพื่อหาช่องทางจัดจำหน่าย

โครงการนี้เป็นโครงการที่จะช่วยให้กลุ่มสตรีฯ ได้มีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนได้ไม่มากก็น้อย การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้านทักษะและต้นทุนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสินค้าบ้านแม่แดด จึงนับว่าเป็นการสร้างรากฐานให้กับสตรีในชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อการมีอาชีพและทักษะที่จะสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนของตัวเองอย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย

จังหวัด

ขอนแก่น

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางอานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล
โทร: 098-7565273

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมของแรงงานกลุ่มสตรีปกาเกอะญอที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ในชุมชน เพื่อการพัฒนาทักษะความสามารถในการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้โดยตนเองอย่างภาคภูมิใจ และการรักษาภูมิปัญญาของปกาเกอะญออย่างยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส