คณะสังคมสงเคราะห์ฯ มธ. จับมือกับเรือนจำกลางลำปาง นำโปรแกรมการวางแผนชีวิตและอาชีพมาฝึกสอนให้ผู้กระทำผิดพร้อมสำหรับการกลับสู่สังคม

ลำปาง ผู้ประกอบการ

ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ขาดโอกาสในสังคมไทยนั้นมีมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและควรได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดที่สุดกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของ ‘อดีตผู้ต้องโทษ’ ที่กล่าวว่าควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดนั้น ก็เพราะคนกลุ่มนี้เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว มักจะต้องเผชิญกับอคติของสังคม ทำให้โอกาสในการได้รับเข้าทำงานหรือการได้ปฏิบัติอาชีพอย่างสุจริตนั้นเป็นไปด้วยความลำบาก

ที่ผ่านมาในอดีต ผู้ต้องโทษจำนวนหนึ่งต้องหันกลับไปเลือกทางที่ผิดกฎหมาย ส่วนหนึ่งก็เพราะความกดดันจากสังคมที่ทำให้ไม่มีทางเลือก ไม่ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เรือนจำไม่ได้มีการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต่อการวางแผนชีวิตให้กับพวกเขามากเท่าที่ควร จนทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมปกติได้

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอดีตผู้ต้องโทษกลุ่มนี้ จึงได้ร่วมมือกับเรือนจำกลางลำปางจัดทำโครงการ ‘พัฒนาแผนประกอบการชีวิต-ประกอบการอาชีพของผู้ต้องขังเรือนจำกลางลำปาง’ เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการสร้างทักษะด้านการวางแผนชีวิตและการประกอบอาชีพให้กับผู้ต้องโทษในเรือนจำ

กลุ่มเป้าหมายของโครงการถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มผู้เรียนรู้ ซึ่งเป็นผู้ต้องโทษที่เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว 30 คน 2.ครอบครัวผู้ต้องโทษ จำนวน 2 ครอบครัว 5 คน 3.กลุ่มผู้สร้างการเรียนรู้ ซึ่งประกอบไปด้วย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้คุมประพฤติ และผู้ฝึกอาชีพ 15 คน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 50 คน

การดำเนินงานในโครงการจะทำตามหลักสูตรและโปรแกรมที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ได้พัฒนาเอาไว้ โดยจะมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4 กิจกรรม อันได้แก่  1.กิจกรรมการเรียนรู้เสริมสร้างทักษะชีวิต-ทักษะสังคม เป็นการเรียนรู้ศักยภาพและความถนัดตามความถนัดของตนเอง 2.กิจกรรมวางแผนการใช้ชีวิต 3.กิจกรรมวางแผนการประกอบการอาชีพ 4.การสรุปแผนประกอบการชีวิต-ประกอบการอาชีพ โดยทั้งหมดจะเน้นไปที่การฝึกทักษะชีวิต การค้นหาคุณค่าในตัวเอง และการดึงเอาศักยภาพของตัวเองออกมาใช้เพื่อนำไปประกอบอาชีพที่มั่นคงในสังคม

ภายหลังจากกิจกรรมทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โครงการจะมีระบบติดตามกลุ่มเป้าหมายภายหลังการปล่อยตัวอีกด้วย เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคน เพื่อทำการสนับสนุนและช่วยเหลือยามที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตในสังคมจริงๆ

โครงการพัฒนาฯ ผู้ต้องโทษจากธรรมศาสตร์โครงการนี้ นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เหล่าอดีตผู้กระทำผิดสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างภาคภูมิ ผ่านการมีทักษะทางสังคม มีการวางแผนในการประกอบอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งสามารถสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองขึ้นมา

นอกจากนี้โครงการยังมองไปถึงการเตรียมความพร้อมของครอบครัวเพื่อรองรับการกลับคืนสู่สังคมของผู้พ้นโทษด้วย ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งรายละเอียดที่มีส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะหากครอบครัวสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ก็จะทำให้พวกเขามีกำลังใจในการสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาแผนประกอบการชีวิต-ประกอบการอาชีพของผู้ต้องขังเรือนจำกลางลำปาง จังหวัดลำปาง

ชื่อหน่วยงาน

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

จังหวัด

ลำปาง

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: อาจารย์ปุณิกา อภิรักษ์ไกรศรี
โทร: 084-5156919

เป้าประสงค์โครงการ

ผู้ต้องขัง มีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ และยกระดับตนเป็นผู้ประกอบการชีวิตในฐานะมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส