เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่สอง! ม.นครพนมเปิดหลักสูตรซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในสถานพินิจฯ พร้อมสนับสนุนต่อจนถึงมืออาชีพ

นครพนม งานช่าง

สำหรับประเทศไทยเมื่อเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี กระทำความผิดจะถูกส่งตัวมาที่สถานพินิจเด็กและเยาวชนเพื่อรอคำพิพากษาของศาล แม้สภาพแวดล้อมในสถานพินิจฯ ไม่ได้เป็นกำแพงคอนกรีตสูง ล้อมรอบด้วยขดลวดหนามเหมือนอย่างเรือนจำของผู้ใหญ่ แต่การขาดอิสระภาพและการถูกควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ใดพื้นหนึ่ง แล้วมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า ‘ผู้คุม’ คอยจับตามองส่งผลกระทบต่อสภาวะทางใจของเด็กไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม เป็นสถานที่รองรับเด็กและเยาวชนจากจังหวัดนครพนมและจังหวัดข้างเคียง ได้แก่ สกลนครและมุกดาหาร ทำให้ต้องดูแลเด็กและเยาวชนจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ ด้วยสถานการณ์ที่เผชิญอยู่นี้ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาหนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูศักยภาพและสร้างโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จึงนำมาสู่แนวคิดการทำ โครงการพัฒนาทักษะแรงงานอาชีพการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย แก่แรงงานด้อยโอกาสพื้นที่จังหวัดนครพนม ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การเสริมความเข้มแข็งระหว่างองค์กรเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน ต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ จังหวัดนครพนม โดยพัฒนาหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรเฉพาะทางสำหรับกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งหมด 150 คน 

‘ก่อนจะสร้างต้องซ่อมเสียก่อน’ เป็นบทเรียนที่ทีมงานได้รับจากการเปิดใจพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย ทีมงานค้นพบว่าเด็กส่วนใหญ่มีสมาธิสั้น อ่อนด้านทฤษฎีแต่ชอบการปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ก่อนเริ่มต้นเนื้อหาเชิงทฤษฎี ทีมงานจึงต้องปรับทัศนะคติด้วยการสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเป้าหมายเสียก่อน ใช้ ‘ใจ’ กระตุ้นให้เกิดการการลงมือทำ หลังจากนั้นจึงค่อยพัฒนาทักษะวิชาชีพโดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาฝีมือเเรงงาน แล้วให้เด็กนำความรู้ไปปฏิบัติจริง  

สำหรับหลักสูตรการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย ทางโครงการฯ ออกแบบเป็นหลักสูตร 36 ชั่วโมง ใช้เวลาอบรม 30 ชั่วโมง และกิจกรรมอาสาซ่อมบำรุงอีก 6 ชั่วโมง อ้างอิงโครงสร้างหลักสูตรจากระเบียบสำนักพัฒนาฝีมือเเรงงานและหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายนำชั่วโมงเรียนไปเทียบหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อได้ ประกอบด้วยหัวข้อเรื่องเป้าหมายชีวิต ทักษะการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเเละการซ่อมระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย และกฏหมายการทำงาน กฏหมายเเรงงาน และพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือเเรงงานแห่งชาติ การอบรมเชิงปฏิบัติการใช้เวลา 5 วัน แบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้วิทยากรดูแลได้อย่างทั่วถึงและใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ทุกคนได้เรียนรู้ทักษะการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตารีดและหม้อหุงข้าว และการซ่อมระบบไฟฟ้าภายในบ้านพักอาศัย เช่น หลอดไฟ เป็นต้น

โดยกลุ่มเป้าหมายของโครงการ กล่าวว่า แม้กลุ่มเป้าหมายทุกคนจะชื่นชอบการลงมือปฏิบัติมากกว่า แต่การเรียนรู้ในหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าของโครงการฯ ทำให้พวกเขาเข้าใจความจำเป็นของการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เหมือนการก้าวขึ้นบันไดทีละขั้นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ทุกคนที่ผ่านหลักสูตรการอบรมจะได้รับใบประกาศจากโครงการ รับรองโดยคณบดี คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนมและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม ใบประกาศนี้นำไปใช้สมัครงานและนำไปเทียบหน่วยกิตเพื่อศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นได้ 

สิ่งที่ประสบความสำเร็จในโครงการ ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างองค์ความรู้และทักษะอาชีพ แต่เป็นการที่โครงการสามารถสร้างบุคลากรที่มีภูมิคุ้มกันในชีวิต และมีความสัมพันธ์อันดีกับทีมวิทยากร ซึ่งสิ่งนี้เป็นสายสัมพันธ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง นอกเหนือจากนี้ การที่กลุ่มเป้าหมายได้เกิดทักษะทางอาชีพผ่านการอาบรมของโครงการ ย่อมจะช่วยให้พวกเขามีเครื่องมือในการ ‘สร้างชีวิตใหม่’ ที่มีคุณภาพและพร้อมในการคว้าโอกาสที่จะผ่านเข้ามาในชีวิตต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะแรงงานอาชีพการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย แก่แรงงานด้อยโอกาสพื้นที่จังหวดนครพนม

ชื่อหน่วยงาน

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยนครพนม

จังหวัด

นครพนม

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเยี่ยม ยศเรืองศักดิ์
โทร: 081-9645607

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 150 คน มีทักษะความรู้ด้านการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและสามารถซ่อมเครื่องไฟฟ้าพื้นฐานในครัวเรือนได้เอง
  2. ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 150 คนมีทักษะความรู้ด้านการตรวจสอบและซ่อมบำรุง ระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย สามารถไปตรวจเช็คระบบไฟฟ้าที่บ้านพักอาศัยของตนเองได้
  3. ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 150 คนมีทักษะความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวคิดและทัศนคติ มุมมอง การดำรงชีวิตยุคการเปลี่ยนแปลง
  4. ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 150 คนมีทักษะความรู้ ความเข้าใจ ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเองได้อย่างน้อย 1 ชิ้น
  5. สามารถพัฒนาทักษะแรงงานด้อยโอกาสพื้นที่จังหวัดนครพนม ให้มีความรู้ความสามารถและได้รับสิทธิการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส