‘กลุ่มฅนวัยใส’ จัดโครงการฝึกทักษะ ‘พ่อแม่วัยรุ่น’ ให้เป็นเจ้าของร้านอาหารขนาดเล็ก แก้ปัญหาครอบครัวอย่างยั่งยืน

เชียงใหม่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์

เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ที่กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่ ทำงานดูแลช่วยเหลือพ่อแม่วัยรุ่นในพื้นที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การพัฒนาสุขภาพเป็นหลัก เพื่อป้องกันการท้องซ้ำ และการดูแลลูก ซึ่งเน้นไปที่พัฒนาการของเด็กและการส่งเสริมการอ่าน โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและการเสริมพลังใจ เพื่อให้เขาลุกขึ้นมาจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง

ซึ่งผลจากการทำงานคลุกคลีกับพ่อแม่วัยรุ่นมาหลายปี พบว่า พื้นฐานของคนเหล่านี้ นอกจากขาดโอกาสทางการศึกษาแล้ว ครอบครัวยังมีฐานะยากจนอีกด้วย ยิ่งท้องตั้งแต่วัยเด็ก โอกาสในการประกอบอาชีพก็ยิ่งน้อย สุดท้ายก็เข้าสู่ภาวะยากจนเหมือนเดิม ทำให้กลุ่มฅนวัยใสคิดหาวิธีช่วยเหลือพ่อแม่วัยรุ่น ด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการอาหารขนาดย่อมในกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ศรินญา สิงห์ทองวรรณ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งกลุ่มฅนวัยใส เล่าที่มาที่ไปของโครงการว่า “ถ้าเขาท้องไม่อิ่ม การพัฒนาด้านอื่นจะถูกปิดประตู เราต้องหาทางทำอย่างไรก็ได้ให้เขามีรายได้ ให้เขาสร้างรายได้ด้วยตัวเอง เพราะนอกจากรายได้แล้ว การได้ทำงานยังช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจให้กับพวกเขาอีกด้วย” 

ทั้งนี้ การฝึกทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการอาหารขนาดย่อมให้กลุ่มเป้าหมาย 50 คน จากพื้นที่อำเภอสารภี อาจฟังดูแล้วน่าจะง่าย แต่เมื่อลองถามกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นแล้ว คำตอบที่ได้รับก็คือ…ไม่รู้ โดยสุดาพร นาคฟัก ผู้รับผิดชอบโครงการ เสริมว่า ที่ผ่านมา เด็กกลุ่มนี้ผ่านการฝึกอาชีพมาหลายอย่าง แต่ก็ไปไม่รอด เพราะว่ามันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา เนื่องจากสถานฝึกอาชีพอยู่ไกลเกินไป เด็กอายุ 14-15 ปี ยิ่งมีลูกเล็กเขาก็ไปไม่ได้ อีกทั้งอาชีพก็ไม่ตรงกับความต้องการของเขา เช่น การเย็บผ้า การตัดผม เป็นต้น

วิถีชีวิตของพ่อแม่วัยรุ่นจะไม่เหมือนคนอื่น จากที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันมาหลายปี เรารู้เลยว่าการจะหาอาชีพที่เหมาะจริงๆ นั้นยากมาก เช่น ครั้งหนึ่ง เราชวนเขามาทำกิจกรรมประมาณ 2-3 ชั่วโมง นัดหมายกันดิบดีว่าจะมา แต่พอถึงเวลาจริงก็มาไม่ได้ เพราะลูกป่วย ต้องพาลูกไปโรงพยาบาล หรือบางคนไม่มีใครดูแลลูก ไม่มีคนมาส่ง ขณะที่บางคนก็ต้องเอาลูกมาทำกิจกรรมด้วย อบรมได้พักหนึ่ง แม่ต้องออกไปให้นมลูกก็มี” 

สุดาพร อธิบายว่า เป้าหมายของโครงการนี้ คือพ่อแม่วัยรุ่นต้องมีอาชีพ และสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ จากนั้นก็ฝึกเรื่องกระบวนการคิดต่างๆ เช่น การวางเป้าหมายชีวิต การคิดคำนวณต้นทุน รายได้ และเรียนรู้กระบวนการสู่การพัฒนาทักษะอาชีพต่อไป โดยคนที่เข้าร่วมหลักสูตรครบ 30 ชั่วโมง จะมีเงินทุนสนับสนุนสำหรับซื้ออุปกรณ์ในการประกอบอาชีพเริ่มต้นให้ 2,000 บาท “ซึ่งถ้าหากพวกเขาทำได้จริงๆ มันจะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปเลยนะ” สุดาพรย้ำ

นอกจากโครงการนี้จะช่วยพ่อแม่วัยรุ่นค้นหาอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองได้แล้ว ยังช่วยให้กลุ่มเป้าหมายภาคภูมิใจในตนเอง ที่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้อีกด้วย ด้าน นิมานนรดี บุตรฉกรรจ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เล่าว่า เธอใช้พื้นที่หน้าบ้านข้างร้านขายผลไม้ของแม่เป็นที่ตั้งแผงกล้วยทอดแบรนด์ ‘เก้าแสน’ โดยเธอนำเงินทุนที่ได้จากโครงการมาซื้ออุปกรณ์ขายกล้วยทอด ทำให้มีรายได้วันละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งหลังจากแบ่งต้นทุนประจำวันไว้ซื้อวัตถุดิบแล้ว เธอจะมีเงินเหลือเก็บประมาณ 1,700 บาท ไว้เป็นเงินสำรองสำหรับอนาคต

“ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้มีหลายอย่าง แต่ที่ชอบที่สุดคือการคำนวณต้นทุน กำไร และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เดิมเป็นคนที่เก็บเงินไม่อยู่ มีเท่าไรก็ใช้หมด แต่โครงการนี้สอนให้รู้จักการออมเงิน จึงลองนำมาใช้จัดระเบียบตัวเอง ได้เงินมาก็จดค่าใช้จ่าย แล้วก็เริ่มเก็บเงิน พอเห็นเงินเก็บของตัวเองก็รู้สึกดีใจมาก

นิมานนรดี เสริมว่า ตอนนี้เธอภูมิใจในตัวเองมาก ที่ไม่ต้องแบมือขอเงินพ่อแม่อีกแล้ว ทั้งนี้ เธอวางแผนไว้ว่า ถ้าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น จะให้สามีไปทำงานเพิ่มเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต ส่วนเงินที่ได้จากการขายกล้วยทอด ก็เอาไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน

ทั้งนี้ การจะทำงานกับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ให้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ‘ความเชื่อใจและความไว้ใจ’ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเป็นพ่อแม่วัยรุ่นนั้น บางครั้ง พวกเขาเพียงต้องการให้มีคนรับฟังพวกเขาบ้างเท่านั้น ซึ่งเทคนิควิธีที่เธอใช้ก็คือ การชวนคิดชวนคุยกันแบบมนุษย์คนหนึ่งคุยกัน โดยจะไม่ใช้วิธีสอนหรือสั่งให้พวกเขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ใช้การรับฟังแบบไม่ตัดสิน ต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นครู เป็นป้า หรือว่ามีประสบการณ์ชีวิตมากกว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่เน้นพูดคุยกันเหมือนพี่เหมือนเพื่อน 

การทำงานกับพ่อแม่วัยรุ่น ความไว้เนื้อเชื่อใจสำคัญมาก องค์กรของเราทำงานโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ แต่ดูแลเด็กด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ เวลาเด็กมาใหม่ หรือเวลาไปเยี่ยมบ้าน ครั้งแรกเขาก็จะประเมินเรา เราก็จะประเมินเขา เด็กๆ จะมีความซื่อ เขาจะมองดูบรรยากาศทั้งหมด มองตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยนะว่า เราคิดกับเขายังไง 

“เพราะเขามีประสบการณ์ที่ถูกตีตราจากสังคมและชุมชนมาเยอะ แต่เราจะไม่แสดงกิริยาแบบนั้นกับเขา เขาจะสักลาย จะนุ่งกางเกงยีนขาสั้นก็ไม่เป็นไร เราจะมองด้วยความเป็นมิตร ด้วยสายตาที่อยากช่วยเหลือเขาจริงๆ แล้วเด็กเขาจะสัมผัสมันได้ ฉะนั้น ผู้ใหญ่ต้องจัดการตัวเอง และต้องก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านี้ให้ได้ก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ

ปัจจุบันนี้ ผลลัพธ์จากโครงการนี้ได้เดินมาถึงปลายทางแล้ว ด้วยความทุ่มเทแรงกายแรงใจให้คำแนะนำพ่อแม่วัยรุ่นอย่างเต็มที่ ในที่สุด กลุ่มฅนวัยใสก็สามารถทำให้พ่อแม่วัยรุ่นกลุ่มนี้ เกิดความภาคภูมิใจจากการมีอาชีพ มีรายได้ไว้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังช่วยให้พวกเขาเห็นอนาคตของตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าจะก้าวต่อไปในอนาคตข้างหน้าอย่างไร ถึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

“ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้มีหลายอย่าง แต่ที่ชอบที่สุดคือการคำนวณต้นทุน กำไร และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เดิมเป็นคนที่เก็บเงินไม่อยู่ มีเท่าไรก็ใช้หมด แต่โครงการนี้สอนให้รู้จักการออมเงิน จึงลองนำมาใช้จัดระเบียบตัวเอง ได้เงินมาก็จดค่าใช้จ่าย แล้วก็เริ่มเก็บเงิน พอเห็นเงินเก็บของตัวเองก็รู้สึกดีใจมาก” นิมานนรดี บุตรฉกรรจ์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการพัฒนาทักษะอาชีพการประกอบอาหารขนาดย่อมในกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น

ชื่อหน่วยงาน

กลุ่มฅนวัยใส

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวสุดาพร นาคฟัก
โทร: 083-1520451

เป้าประสงค์โครงการ

พ่อแม่วัยรุ่น จำนวน 50 คน สามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการด้านอาหารขนาดเล็ก มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตนเองและลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส