วิทยาลัยชุมชนตากจัดทำโครงการพัฒนาแรงงาน 3 วิชาชีพ ช่วยลดคนว่างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใน 3 อำเภอ

ตาก งานช่าง

พื้นที่จังหวัดตาก นอกจากจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยังคงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายๆ อย่างแล้ว ยังเป็นพื้นที่รอยต่อพรมแดนที่มีระยะห่างของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ความเหลื่อมล้ำ และผู้ด้อยโอกาส วิทยาลัยชุมชน จังหวัดตาก จึงมีความคิดที่จะเข้ามาพัฒนาทักษะฝีมือในเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาข้างต้น ผ่านโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของวิทยาลัยชุมชนจังหวัดตาก 

รัตนา เจริญศรี ผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบายว่า กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของเงิน แต่คือการส่งเสริมทักษะอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจที่วิทยาลัยชุมชน จังหวัดตากดำเนินการมาตลอด เมื่อทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดรับสมัครโครงการ จึงสนใจ เนื่องจากมีข้อมูลอยู่แล้ว ว่าคนในท้องถิ่นต้องการฝึกทักษะอาชีพด้านใดบ้าง 

ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร ได้แก่ ช่างเชื่อมโลหะ การนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอ โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 100 คน จากพื้นที่อำเภออุ้มผาง แบ่งเป็นช่างเชื่อมโลหะ 40 คน, การนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ 20 คน, และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอ 40 คน โดยสาเหตุที่หลักสูตรนวดแผนไทยมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอื่น ก็เพราะเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและร่างกาย จึงต้องฝึกอย่างละเอียดและเข้มข้น

เมื่อได้หลักสูตรและกลุ่มเป้าหมายแล้ว คณะทำงานจึงเริ่มวางแผนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มจากการออกแบบให้มีผู้รับผิดชอบในแต่ละหลักสูตร อาชีพช่างเชื่อมโลหะมีอาจารย์ศิริชัย เทียนทอง และผู้ประกอบการร้านช่างเชื่อมในจังหวัดเป็นผู้ให้ความรู้ ส่วนกลุ่มนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพมีอาจารย์สุนีย์ ทวีกิจ, นภัสรดา ใจชมภู, และเภสัชกรเป็นผู้ให้ความรู้ ในขณะที่กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอมียุพดี สิงหมณี เป็นผู้ให้ความรู้

ยุพดี ผู้รับผิดชอบหลักสูตรการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าปกาเกอะญอ เสริมว่า พื้นที่อำเภออุ้มผางมีภูมิปัญญาการทอผ้าปกาเกอะญอที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ยังขาดความคิดสร้างสรรค์ในผลงาน คณะทำงานจึงพยายามผลักดันให้ผ้าพื้นเมืองอันทรงคุณค่ามีรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้า เช่น กระเป๋าสตางค์ หน้ากากอนามัยจากผ้า กระเป๋าหลายรูปแบบ ผ้าคลุมเตียง และผ้าปูโต๊ะ เป็นต้น

บุญมาก จุ้ยเนียน หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายจากหลักสูตรนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ เล่าว่า เธอเป็นหมอนวดอยู่แล้ว แต่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ทำให้บุญมากเข้าร่วมโครงการ เพราะจุดเริ่มต้นการเป็นหมอนวดของเธอคือการสืบทอดภูมิปัญญาจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ถึงแม้จะมีทักษะที่เชี่ยวชาญ แต่เมื่อไม่มีใบอนุญาต เธอจึงต้องประกอบอาชีพนี้อย่างหลบๆ ซ่อนๆ จึงอยากมาเข้าร่วมโครงการ เพราะเมื่อจบการอบรม กลุ่มเป้าหมายจะได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ 

“พอรู้ว่ามีโครงการนี้เปิดรับสมัครก็ดีใจมาก เพราะเราต้องการใบอนุญาตเพียงอย่างเดียว เราจบแค่ ป.6 ทำให้ไม่รู้ว่าจะไปเรียน หรือทำอย่างไรให้ได้ใบอนุญาต ตอนนั้นเหมือนเลี้ยงชีพไปวันๆ ได้เงิน 50-100 บาท จากการนวด กว่าจะมาพัฒนาจนถึงตรงนี้ได้ต้องใช้เวลา อีกทั้งเมื่อได้อบรมกับโครงการ เรายังมีความรู้เกี่ยวกับการนวดมากขึ้น นวดแบบไหนลูกค้าถึงจะไม่เป็นอันตราย นั่นคือก่อนนวดเราต้องวัดความดันให้ลูกค้า หากใครความดันสูงเราก็จะไม่นวดให้ เพราะอันตราย” บุญมากกล่าว

ด้าน นพดล สกุลเขมฤทัย หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายจากหลักสูตรช่างเชื่อมโลหะ เสริมว่า เขาเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘ความยากจนมันน่ากลัว’ แต่กับบางคน แม้แต่ ‘งาน’ ยังไม่มีให้ทำเลยด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงรู้สึกว่าการว่างงานเป็นเสมือนตราประทับถึงความไม่น่าภาคภูมิใจ จึงพยายามมองหาหนทางที่จะสร้างอาชีพให้ตัวเอง จนกระทั่งพบกับโครงการนี้ ซึ่งวิชาชีพช่างเชื่อมโลหะคือฐานที่มั่นที่เขาจะฝากอนาคตไว้

“ผมอยากเรียน อยากได้ความรู้ อยากได้ใบประกอบอาชีพ ตอนที่เพื่อนๆ บอกว่ามีโครงการนี้ ผมก็ดีใจที่จะได้มีงานทำสักที เพราะตอนนี้อยากปลีกตัวเองออกมาหางานอิสระทำ โครงการช่วยให้เรามีความรู้ในขั้นต้น เพื่อที่เราจะได้นำไปต่อยอดในอนาคต เขาสอนให้เราบิน แต่เราจะบินได้แค่ไหน ก็อยู่ที่เราว่าจะขยันแค่ไหน นพดลกล่าว ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้มาประกอบอาชีพแล้ว นพดลยังคิดเผื่อแผ่ถึงคนอื่น โดยเขาตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่า ถ้ามีคนสนใจเรียนรู้วิธีเชื่อมโลหะ เขาก็พร้อมจะสอนให้ 

ทั้งนี้ รัตนายังเสริมอีกว่า โครงการนี้จะมีการติดตามผลการทำงานอย่างใกล้ชิด ทั้งทางโทรศัพท์และกลุ่มไลน์ นั่นคือทีมผู้รับผิดชอบหลักสูตรต่างๆ ก็คอยติดตามคณะทำงาน แล้วคณะทำงานก็ติดตามกลุ่มเป้าหมายอีกที กลายเป็นการหนุนเสริมกันไปโดยไม่รู้ตัว เช่น บางครั้งกลุ่มเป้าหมายจะไลน์มาบอกว่า “วันนี้ได้นวดแล้วนะ วันนี้หาตังค์ได้แล้ว คนนี้เตรียมไปต่างประเทศ คนนี้ปรับบ้านของตัวเองให้เป็นที่นวดแล้ว” ส่วนกลุ่มที่ทำกระเป๋าจากผ้าปกาเกอะญอก็ทักมาบอกว่า “วันนี้ยอดสั่งซื้อเข้ามาเยอะมาก รับแทบไม่ทัน”  

ซึ่งการติดตามเช่นนี้ ทำให้คณะทำงานเล็งเห็นว่า การจะพัฒนาอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายแล้วเกิดประโยชน์มากที่สุด คณะทำงานจะต้องช่วยกันหนุนเสริมกลุ่มเป้าหมายให้สุดทาง เช่นเดียวกับอาจารย์ศิริชัย หนึ่งในผู้รับผิดชอบหลักสูตรช่างเชื่อมโลหะ ที่เสริมว่า ในโครงการนี้ ผู้สอนจะต้องสร้างศรัทธาให้กลุ่มเป้าหมาย ให้เขาชื่อว่าเราตั้งใจจริง ไม่ใช่มาสอนเล่นๆ จบโครงการก็เลิกไปเหมือนที่ผ่านๆ มา จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่า โครงการนี้มีคณะทำงานคอยให้คำปรึกษากับกลุ่มเป้าหมายแทบจะตลอดเวลา เมื่อมีปัญหา กลุ่มเป้าหมายก็สามารถสอบถามได้ทันที 

นอกจากการอบรมหลักสูตรด้านวิชาชีพแล้ว อารักษ์ อนุชปรีดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชน จังหวัดตาก ยังเสริมอีกว่า เขามีแนวคิดที่จะทำผลิตภัณฑ์ทุกชนิดในจังหวัดตากให้อยู่ภายใต้ ‘แบรนด์ของจังหวัดตาก’ มีโลโก้ วชช. และ กสศ. อยู่ด้วย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของจังหวัด โดยอาจจัดให้มีโชว์รูมของจังหวัดที่นำผลิตภัณฑ์ของ วชช. และ กสศ. หรือหน่วยงานอื่นๆ มาตั้งขาย 

“โครงการนี้เป็นเหมือน ‘Fast Track’ ที่มี กสศ. เป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้การฝึกทักษะอาชีพของวิทยาลัยชุมชนก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการมีที่ปรึกษา มีคณะทำงานที่ใส่ใจกลุ่มเป้าหมายนี่สำคัญมาก ถ้าไม่มีคนมีคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา พวกเขาก็อาจถอยแล้วก็ได้ ซึ่งผมคิดว่านี่คือจุดเด่นขอโครงการนี้ อารักษ์ทิ้งท้าย

“ผมอยากเรียน อยากได้ความรู้ อยากได้ใบประกอบอาชีพ ตอนที่เพื่อนๆ บอกว่ามีโครงการนี้ ผมก็ดีใจที่จะได้มีงานทำสักที เพราะตอนนี้อยากปลีกตัวเองออกมาหางานอิสระทำ ครงการช่วยให้เรามีความรู้ในขั้นต้น เพื่อที่เราจะได้นำไปต่อยอดในอนาคต เขาสอนให้เราบิน แต่เราจะบินได้แค่ไหน ก็อยู่ที่เราว่าจะขยันแค่ไหน” นพดล สกุลเขมฤทัย หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายจากหลักสูตรช่างเชื่อมโลหะ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และด้อยโอกาส โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนตาก

จังหวัด

ตาก

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางรัตนา เจริญศรี
โทร: 083-1991482

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสให้กับชุมชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงาน

  1. ผลลัพธ์  ผู้รับการอบรมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมีความความรู้ทักษะฝีมือแรงงานยกระดับฝีมือที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น
  2. ผลกระทบ ครอบครัวผู้รับการอบรมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส มีรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส