เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ นครศรีธรรมราช ร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี พร้อมสะสมทักษะในวิชาชีพช่างปูกระเบื้อง
จากการติดตามในรอบ 1-3 ปี ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รายงานว่า การกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนหลังได้รับการปล่อยตัวจากสถานพินิจฯ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา พบว่ายิ่งเด็กถูกปล่อยตัวออกไปใช้ชีวิตนานขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสกระทำความผิดจนถูกดำเนินคดีอีกครั้ง เฉลี่ยร้อยละ 22 ในปีแรก แล้วเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ในทุก ๆ ปี สถิติชี้ชัดว่าจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำมีมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวออกไป
ด้วยเหตุดังกล่าว เพื่อไม่ให้พวกเขากลับไปทำความผิดพลาดซ้ำอีกครั้งอย่างไร้หนทาง เมื่อการกระทำผิดทางกฎหมายของเด็กและเยาวชนสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและการถูกละเลยจากครอบครัวและสังคม สถานพินิจเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเริ่มต้นจากการตั้งคำถามมากมายที่นำมาสู่คำตอบในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างงาน ให้กับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ
กลายเป็นที่มาของโครงการ “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการเรียนรู้ทักษะการปูกระเบื้อง” โดยแบ่งรับสมัครกลุ่มเป้าหมายทีละรุ่น รุ่นละ 30 คน ทั้งหมด 3 รุ่น กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นผู้ที่ได้รับการตัดสินให้อยู่ฝึกอบรมในสถานพินิจฯ ระยะยาว 8 เดือนถึง 1 ปี เพื่อสร้างรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยงช่วยสอนรุ่นน้อง ตัวหลักสูตรกำหนดไว้ 21 วัน
สำหรับการวางหลักสูตรจึงต้องเชิญวิทยากรแขนงต่างๆ จากภายนอกมาเป็นครูฝึก ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้โครงการขับเคลื่อนไปได้ถูกทิศทาง ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ทฤษฎีและการฝึกทักษะอาชีพการปูกระเบื้องจากผู้รับเหมาและครูฝึกจากวิทยาลัยการอาชีพ การเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่ออาชีพ โดยครูฝึกจากการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานที่รับไม้ต่อจากสถานพินิจฯ ในการฝึกงานช่างด้านอื่นให้กับเด็กและเยาวชนที่สำเร็จโครงการแล้ว เป็นต้น
ท้ายสุดจึงออกมาเป็น หลักสูตรการเรียนรู้ทักษะการปูกระเบื้อง แบ่งออกเป็น 4 หน่วย ได้แก่
- การรู้จักตัวเอง การสร้างเป้าหมายและแรงบันดาลใจทางอาชีพ ใช้เวลา 2 วัน
- การเรียนรู้ทฤษฎีและการฝึกทักษะอาชีพการปูกระเบื้อง
- เทคโนโลยีเพื่ออาชีพ
- การถอดบทเรียนจากกลุ่มเป้าหมายในแต่ละรุ่น โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน
อย่างไรก็ดี โครงการฯ ก็เผชิญกับอีกปัญหาใหญ่ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ส่งผลให้ศาลสั่งปล่อยตัวเด็กเพื่อบรรเทาความแออัดภายในสถานพินิจฯ ทำให้เด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายรุ่นแรกจาก 30 คนถูกปล่อยตัวออกไปเหลืออยู่เพียง 4 คนเท่านั้น แต่เพื่อให้การทำโครงการฯ ดำเนินต่อไปได้อย่างมีความสุขทั้งทีมงานและกลุ่มเป้าหมาย ในช่วงแรก จึงได้ใช้วิธีการถอดบทเรียนกับกลุ่มเป้าหมายทุกวัน โดยจะมีการสอบถามความคิดเห็นถึงความรู้สึกระหว่างเข้าร่วมโครงการ ปัญหา และสิ่งที่พบระหว่างการเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนากระบวนการอบรมต่อไป
แต่ไม่ว่าจะต้องพบเจออุปสรรคแบบไหน เมื่อโครงการได้จบลงแล้ว กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมอบรมได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการวิเคราะห์ตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในการเลือกประกอบอาชีพที่เหมาะสมในอนาคต
ถึงแม้โครงการจะเน้นการฝึกทักษะอาชีพปูกระเบื้อง แต่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มเป้าหมายจะต้องจบออกไปทำอาชีพนี้เท่านั้น เพราะโครงการฯ มองว่าการอบรมนี้เป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้ทดลองเรียนรู้และเข้าถึงศักยภาพของตัวเอง จากการลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยทำจนสำเร็จ ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยสร้างกำลังใจและความหวังในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ห่างไกลจากการกระทำผิดซ้ำในอนาคต
แชร์:
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการเรียนรู้ทักษะการปูกระเบื้อง
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- เด็กและเยาวชนรู้จักตนเองมากขึ้น รู้ว่าตนมีความสามารถและศักยภาพทางอาชีพช่าง สามารถเรียนรู้แบบกลุ่ม พัฒนาทักษะความชำนาญ
- เด็กและเยาวชน สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และสามารถถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนได้
- เด็กและเยาวชนมีทัศนคติเชิงบวกต่อตนเองและผู้ร่วมงาน