วิทยาลัยชุมชนแพร่นำหลักสูตรการย้อมเสื้อหม้อห้อมแบบดั้งเดิมด้วยสีธรรมชาติกลับมาสอน ช่วยสร้างทักษะ สร้างอาชีพให้กับคนด้อยโอกาสใน 3 ชุมชนของตัวจังหวัด

แพร่ งานหัตถกรรมและฝีมือ

ผ้าฝ้ายทอมือสีน้ำเงินครามซึ่งถูกย้อมด้วย ‘ห้อมธรรมชาติ’ หรือ ‘หม้อห้อม’ คือสินค้าหัตถกรรมขึ้นชื่อของเมืองแพร่ ทว่าแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอยู่มาก แต่การผลิตผ้าหม้อห้อมธรรมชาติแบบดั้งเดิมกลับเลือนหายไป เนื่องจากขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือ อีกทั้ง ‘ต้นห้อม’ พืชให้สีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการย้อมเริ่มหายากและมีราคาสูง ทั้งกำลังถูกกลืนด้วยวิธีใช้สารเคมี

วิทยาลัยชุมชนแพร่ จังหวัดแพร่ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพทุนวัฒนธรรมการผลิตผ้าม่อห้อมของจังหวัดแพร่ เพื่อส่งเสริมอาชีพ สืบสานการอนุรักษ์ผ้าหม้อห้อม โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ คนว่างงาน คนพิการ เกษตรกร และแรงงานนอกระบบ จำนวนทั้งสิ้น 75 คน 

สำหรับการเข้ารับการอบรมนั้น ทางโครการฯ ได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 25 คน ตามกลุ่มอาชีพในการผลิตม่อฮ่อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ 

  1. กลุ่มปลูก ถือเป็นต้นน้ำ โดยเลือกพื้นที่บ้านนาคูหา อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เพราะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ดีที่สุดของจังหวัด ซึ่งถ้าพูดถึงแหล่งปลูกห้อมที่ดีที่สุด ทุกคนรู้ว่าต้องบ้านนาคูหา
  2. กลุ่มย้อม คือกลางน้ำ เลือกบ้านทุ่งโฮ้งเพราะเป็นย่านขายผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมห้อมอยู่แล้ว โดยไปคุยกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่เคยเรียนวิทยาลัยชุมชนแพร่ที่ผ่านการเรียนรู้จากภาคอุตสาหกรรมมาแล้ว 
  3. กลุ่มแปรรูป เป็นปลายน้ำ เราได้พบคนรุ่นใหม่ที่ชอบเรื่องผ้า และพบว่าในพื้นที่อำเภอลองยังไม่เคยมีหน่วยงานใดเข้าถึง ซึ่งคนในกลุ่มนี้สามารถย้อมและตัดเย็บผ้าได้ 

นอกจากนั้นแล้ว สำคัญไม่แพ้กัน ทางโครงการยังได้มีการ ‘สร้างเครือข่าย’ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มมาเจอกัน เพื่อเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน สร้างความเข้มแข็งและเกิดเป็น ‘ห่วงโซ่การทอผ้า’ โดยมีการทำงานที่เชื่อมโยงกันคือชุมชนบ้านนาคูหารับหน้าที่ผลิตห้อมซึ่งเป็นวัสดุตั้งต้นของการทำเสื้อ จากนั้นก็จะส่งต่อให้กับชุมชนบ้านทุ่งโฮ้งที่รับหน้าที่ย้อมผ้า และสุดท้ายก็จะนำผ้าที่ย้อมแล้วส่งต่อให้กับทีมปลายน้ำคือชุมชนในอำเภอลองซึ่งจะรับหน้าที่ตัดเย็บจนออกมาเป็นเสื้อ ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาหม้อฮ่อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งนำผ้าที่เกิดขึ้นจากการทำงานมาร่วมกันมาจำหน่าย โดยไม่นำผ้าทอจากที่อื่นมาขาย

สำหรับช่องทางการตลาด นอกจากการจำหน่ายผ่านเครือข่ายแล้ว ยังมีช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ชอบห้อมแท้ ๆ รวมทั้งยังพยายามสร้างจุดขายด้วยการสร้างเรื่องเล่าจากงานธรรมชาติ โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำเรื่องการทอผ้ากำลังจะเปิดเพจเฟซบุ๊กภายใต้ชื่อ ‘ฝ้ายหลวง’ เพื่อบอกเล่าเรื่องของฝ้ายและห้อมในชุมชน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนแพร่ที่เข้ามาช่วยเสริมความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการกลุ่ม และการขายให้แก่กลุ่มแปรรูปซึ่งยังมีความรู้น้อย จนสามารถแปรรูปและจำหน่ายได้อีกด้วย

ผลความสำเร็จจากโครงการพัฒนาทักษะอาชีพทุนวัฒนธรรมการผลิตผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่ ไม่เพียงช่วยรักษาสืบสานภูมิปัญญาการทำผ้าฝ้ายย้อมห้อมธรรมชาติของคนรุ่นก่อนไว้ให้ไม่สูญหาย แต่ยังช่วยให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และแรงงานด้อยโอกาสได้ประกอบอาชีพและสร้างรายได้จากวิถีดั้งเดิมที่มีคุณค่าของชุมชน รวมถึงคณะทำงานจากวิทยาลัยชุมชนแพร่เองยังได้เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำห้อมจากชุมชน และนำมาสร้างเป็นองค์ความรู้ร่วมกันอย่างยั่งยืนสืบต่อไป 

ความสำเร็จจากโครงการพัฒนาทักษะอาชีพทุนวัฒนธรรมการผลิตผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่ ไม่เพียงช่วยรักษาสืบสานภูมิปัญญาการทำผ้าฝ้ายย้อมห้อมธรรมชาติของคนรุ่นก่อนไว้ให้ไม่สูญหาย แต่ยังช่วยให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และแรงงานด้อยโอกาสได้ประกอบอาชีพและสร้างรายได้จากวิถีดั้งเดิมที่มีคุณค่าของชุมชน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพทุนวัฒนธรรมการผลิตผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนแพร่

จังหวัด

แพร่

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายมนัส จันทร์พวง
โทร: 086-6335283

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. พัฒนาทักษะอาชีพเกษตรกรให้มาปลูกห้อมเพื่อการค้า การผลิตเนื้อห้อมในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กได้ในเบื้องต้น โครงการนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาให้กับผู้ปลูกและผู้ผลิตน้ำห้อมเปียกในจังหวัดแพร่ ให้สามารถรองรับการปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น และยกระดับการผลิตต่อเนื่องเป็นอาชีพรองของคนในชุมชนได้ต่อไป
  2. พัฒนาทักษะอาชีพผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการออกแบบ การลวดลายการย้อมผ้าหม้อห้อม
  3. พัฒนาทักษะอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋า ผ้าพันคอ สิ่งทอเคหะภัณฑ์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส