โลกยุคใหม่ต้องขายออนไลน์เป็น! กศน.ป่าติ้วจัดโครงการนักขายมือทองที่สอนคนรุ่นใหม่ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ยโสธร การพัฒนาหลักสูตร/อบรม

ชุมชนอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร มีฝีมือการตัดเย็บระดับที่แบรนด์ระดับโลกต้องมาจ้างตัดเย็บกระเป๋าลายดอกไม้ และส่งขายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น ทั้งนี้ ชุมชนก็มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตไว้ขายเองในท้องถิ่นและส่งขายทั่วโลกเช่นกัน อาทิ หมอนขิด (หมอนสี่เหลี่ยม) ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยมีชาวบ้านหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย 

แม้ว่าชาวบ้านจะสร้างรายได้จากหมอนขิดอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่ต้องจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ก็มีปัญหาที่ต้องเผชิญ เนื่องจากขาดโอกาสพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด 

ซึ่งประสิทธิ์ชัย ทองปนท์ สมาชิกจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และผู้รับผิดชอบโครงการ มองว่าสิ่งนี้คือข้อจำกัดที่สำคัญ เพราะหากชาวบ้านสามารถทำบทบาทของตัวเองอย่างเต็มที่ เช่น การออกแบบตัดเย็บสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น แล้วจำหน่ายให้ผู้ขายที่มีทักษะด้านนี้โดยตรง ก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้า และสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มคนที่ไม่มีทักษะและสินค้าเป็นของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ โครงการนักขายมือทองของชุมชน จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อนำข้อจำกัดของชุมชนมาพลิกเป็นโอกาส และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าและผู้ว่างงาน

ในมุมมองด้านการตลาดหรือระบบสายพานการผลิตแล้ว ประสิทธิภาพและคุณภาพสินค้าจะเกิดขึ้นน้อยมาก หากผู้ผลิตต้องรับบทบาทผู้ขายควบคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับงานที่ต้องใช้ทักษะและความรู้ด้านการออกแบบและควบคุมคุณภาพสินค้า จำพวกอาหาร

ความโดดเด่นของอำเภอป่าติ้วคือเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมและอาหารที่สำคัญ แต่ข้อจำกัดของชุมชนก็คือ ‘ขาดทักษะการขายสินค้า’ ทำให้หลายชุมชนประสบปัญหา เมื่อผลิตสินค้าหรือได้รับการส่งเสริมให้ผลิตสินค้า ก็มักสะดุดตรงปลายน้ำ นั่นคือเรื่องการขาย สุดท้ายก็ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางอยู่ดี ทำให้ถูกกดราคา หลายรายจึงเลิกผลิตกลางคัน เพราะไม่เห็นช่องทางสร้างรายได้ 

ประสิทธิ์ชัยเล่าว่า “ความจริงแล้ว ไอเดียของโครงการนักขายมือทองของชุมชน เราต่อยอดมาจากโครงการของกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือการอบรมทักษะการขายออนไลน์ ซึ่งเป็นหลักสูตรกลาง แต่เนื้อหาตอนนั้นอาจจะเน้นหนักในทางทฤษฎีจึงนำไปใช้ปฏิบัติได้ยาก พอมีโครงการของกสศ. เข้ามา เราก็เลยคิดว่าน่าจะเอามาผนวกกันได้ โดยอาศัยหลักสูตรกลาง และพัฒนาหลักสูตรใหม่ไปพร้อมๆ ชาวบ้าน” 

สำหรับโครงการนักขายมือทองของชุมชนนี้ คณะทำงานแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

  1. กลุ่มผู้ว่างงานและผู้ไม่มีรายได้
  2. กลุ่มผู้ผลิต 

ซึ่งทั้งสองกลุ่มล้วนต้องการเพิ่มทักษะด้านการขาย จากพื้นที่จำนวน 3 ตำบล ในอำเภอป่าติ้ว ได้แก่ ตำบลโพธิ์ไทร ตำบลโคกนาโก และตำบลเชียงเพ็ง รวมทั้งสิ้น 50 คน

เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายตามเงื่อนไขของโครงการแล้ว คณะทำงานและกลุ่มเป้าหมายจะร่วมกันออกแบบและพัฒนา ‘หลักสูตรนักขายมือทอง’ รอบแรกจะมีวิทยากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จาก กศน. ป่าติ้ว มาให้ความรู้ “เนื้อหาของหลักสูตรนักขายมือทองประกอบด้วย กระบวนการวิเคราะห์ตลาดด้วยทฤษฎี 4P (Price, Plan, Product, Promotion), เทคนิคการถ่ายรูปสำหรับนำเสนอสินค้า, เทคนิคการเล่าเรื่อง, และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย” ประสิทธิ์ชัยกล่าว

รูปแบบการอบรมของแต่ละหลักสูตรจะเน้นการปฏิบัติจริง เช่น การหาจุดเด่นของสินค้า การสร้างคอนเทนต์ การคิดคำ การฝึกถ่ายรูป และการทำภาพประกอบ ซึ่งการอบรมรอบแรกได้รับการตอบรับดี มีการโพสต์ขายสินค้าเยอะมากจนต้องเปิดกลุ่มปิดบนเฟซบุ๊กขึ้น สำหรับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ แต่ความราบรื่นก็สะดุดอีกครั้ง เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การฝึกทักษะการขายขาดความต่อเนื่อง 

ทว่าก็ยังมีทักษะบางส่วนที่กลุ่มเป้าหมายสามารถฝึกฝนต่อได้ แม้จะติดขัดเรื่องสถานการณ์ต่างๆ เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การรับออร์เดอร์ รวมถึงเทคนิคบางอย่าง อาทิ การทำภาพประกอบและการวางตัวหนังสือบนภาพ เป็นต้น

อาลอน ค้าข้าว หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า เขาผลิตสินค้าหลายอย่าง หลักๆ คือการทำหมอน แต่ช่วงที่ว่างๆ ก็จะทำแหนม ปกติชอบโพสต์เล่นในเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่แล้ว เลยมีคนมาคอมเมนต์ถามไถ่ถึงรสชาติและราคา ทำให้อยากทำขาย แต่ไม่รู้ว่าจะตั้งราคาและถ่ายรูป หรือเล่าเรื่องอย่างไรให้สินค้าต่างๆ ‘น่าสนใจ’ 

“โครงการเขาก็สอนเทคนิคการเล่าเรื่อง เช่น ถ้าเราโพสต์ขายแหนมตรงๆ ว่าขายกี่บาท ก็พอได้อยู่ แต่ถ้าเราสร้างความน่าสนใจด้วยการถ่ายพวกคลิปสั้นๆ ให้เห็นขั้นตอนและกระบวนการทำแหนม ผู้บริโภคก็จะเห็นว่าแหนมเราทำมาจากอะไร วัตถุดิบที่ใช้หน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งพอลองทำแบบนี้ก็เห็นชัดเลยว่าคนเข้ามาทักเยอะขึ้น” อาลอนกล่าว และเสริมว่าจากปกติที่ขายได้ไม่ถึง 20 อัน พอผ่านการอบรม บางวันสามารถขายได้ถึง 100 อันเลย

แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะทำให้การอบรมเพื่อพัฒนาทักษะนักขายมือทองต้องสะดุดลง แต่กระบวนการทำงานที่ผ่านมาในรอบหลายเดือนของโครงการ ก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้และยกระดับการพัฒนาอาชีพของกลุ่มเป้าหมายหลายด้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่โครงการได้อบรมฝึกฝนได้ถูกนำไปใช้งานจริงและเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เกิดยอดขายที่มากขึ้น ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้และความมั่นคงของชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย

“เนื้อหาของหลักสูตรนักขายมือทองประกอบด้วย กระบวนการวิเคราะห์ตลาดด้วยทฤษฎี 4P (Price, Plan, Product, Promotion), เทคนิคการถ่ายรูปสำหรับนำเสนอสินค้า, เทคนิคการเล่าเรื่อง, และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย” ประสิทธิ์ชัย ทองปนท์ สมาชิกจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และผู้รับผิดชอบโครงการ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

นักขายมือทองของชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอป่าติ้ว

จังหวัด

ยโสธร

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายประสิทธิ์ชัย ทองปนท์
โทร: 084-4292964

เป้าประสงค์โครงการ

กลุ่มเป้าหมายมีความรู้และทักษะ เรื่อง digital literacy และ e-commerce สามารถนำความรู้ทักษะไปประกอบอาชีพ เสริมสร้างรายได้ และส่งเสริมศักยภาพของชุมชน สถานศึกษามีหลักสูตรหรือแนวทางในการพัฒนาชุมชนด้านการขายออนไลน์อย่างยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส