โลกยุคใหม่ต้องขายออนไลน์เป็น! กศน.ป่าติ้วจัดโครงการนักขายมือทองที่สอนคนรุ่นใหม่ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ยโสธร การพัฒนาหลักสูตร/อบรม

อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีผลิตภัณฑ์จากแหล่งทุนของชุมชนเองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผ้าฝ้าย ตะกร้าไม้ไผ่ เสื่อกก กระเป๋าจากกก หมอนขิด ลูกประคบสมุนไพร สบู่สมุนไพร ข้าวไรเบอร์รี่ น้ำอ้อยสด และปลาร้าหมักข้าวคั่วแห้ง เป็นต้น แต่จะทำอย่างไรให้สินค้าเหล่านี้ปรากฏสู่สายตาผู้บริโภคได้มากขึ้นนั้น เมื่อทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์เรา ไม่เว้นแม้แต่ภาคการค้า บริการและอุตสาหกรรม  

กศน.อำเภอป่าติ้ว จึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาตนเองด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนในโครงการนักขายมือทองของชุมชน โดยนำหลักสูตร e-commerce มาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดที่กว้างขึ้นในการขายสินค้าให้กับชุมชน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน เกิดรายได้และสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ โดยไม่ต้องออกไปนอกพื้นที่บ้านเกิดของตน 

โดยหน่วยพัฒนาฯ ได้มีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ทั้งหมด 50 คน มีตั้งแต่ นักเรียน นักศึกษา ผู้ว่างงาน ที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 59 ปี และสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้ที่มีผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเป็นของตนเอง โดยกลุ่มนี้มีความสนใจเรื่องการขายและการตลาด และ (2) กลุ่มที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ มีความต้องการที่จะเรียนรู้และเพิ่มโอกาสหาช่องทางในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต

หลังจากได้มีการสำรวจและประชุมหารือกัน หน่วยพัฒนาฯ จึงได้จัดอบรมพัฒนาอาชีพให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีคณะวิทยากรจากสถาบัน กศน. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี ให้การช่วยเหลือ ก่อนจะออกมาเป็นหลักสูตรดังนี้ หลักสูตรการพัฒนาที่เน้นชุมชนเป็นฐาน หลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติจริง หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างองค์กรทั้งในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถประกอบธุรกิจและค้าขายออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ผ่านการนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนมาค้าขายบนโลกออนไลน์ให้มีความน่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภคทั่วไปมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีภาคีจากหน่วยงานในชุมชนต่างๆ ให้การสนับสนุนในด้านการขนส่งสินค้า เช่น ไปรษณีย์ป่าติ้ว บริการขนส่งเอกชน เป็นต้น

จากการที่กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมการอบรมของโครงการฯ สิ่งที่หน่วยพัฒนาฯ เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดที่สุดคือ กลุ่มเป้าหมายเริ่มมีความรู้และความเข้าใจในทักษะด้านการใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงมีแรงบันดาลใจและค้นพบเป้าหมายในการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ในชุมชน จนก่อเกิดเป็นอาชีพที่มั่นคงให้กับตนเอง 

“เพราะทุกคนสามารถเป็นนักขายมือทองของชุมชน สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตประจำวันที่สอดคล้องกับปัญหาในชุมชนเพิ่มและพัฒนาศักยภาพด้านการทำธุรกิจการค้าออนไลน์ เน้นต้นทุนจากท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชน โดยชุมชนเป็นฐานมีรูปแบบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพและการมีงานทำอย่างมั่นคงและยั่งยืน” หนึ่งในผู้จัดโครงการฯ บอกเล่าถึงเป้าหมายสำคัญที่ต้องการก้าวไปให้ถึง

โดยในอนาคตต่อจากนี้ หน่วยพัฒนากศน.อำเภอป่าติ้วได้ตั้งเป้าที่จะปรับปรุงและกำหนดหลักสูตรกระบวนการจัดกิจกรรมแนวทางการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติกับกลุ่มเป้าหมาย จนสามารถออกหลักสูตรคู่มือนักขายมือทองที่ชัดเจนเพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานอื่นๆ และประชาชนทั่วไปที่สนใจต่อไป

เพราะทุกคนสามารถเป็นนักขายมือทองได้ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตประจำวันที่สอดคล้องกับปัญหาในชุมชน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

นักขายมือทองของชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอป่าติ้ว

จังหวัด

ยโสธร

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายประสิทธิ์ชัย ทองปนท์
โทร: 084-4292964

เป้าประสงค์โครงการ

กลุ่มเป้าหมายมีความรู้และทักษะ เรื่อง digital literacy และ e-commerce สามารถนำความรู้ทักษะไปประกอบอาชีพ เสริมสร้างรายได้ และส่งเสริมศักยภาพของชุมชน สถานศึกษามีหลักสูตรหรือแนวทางในการพัฒนาชุมชนด้านการขายออนไลน์อย่างยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส