จับการแต่งกายแบบ ‘บาบ๋า’ ที่เป็นอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมของระนอง มาสร้างเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ระนอง งานหัตถกรรมและฝีมือ

‘ระนอง’ จังหวัดเล็กๆ ทางภาคใต้ที่มีประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมอันน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘เปอรานากัน’ หรือคำที่ใช้เรียกขานผู้คนเชื้อสายลูกครึ่งมลายู – จีนซึ่งเป็นตัวแทนวัฒนธรรมแบบผสมผสานที่ยังคงทิ้งร่องรอยให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรม รวมถึงเครื่องแต่งกายที่นำเอกลักษณ์ของชาวจีนและมลายูมาผนวกเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะผู้หญิงนิยมใส่เสื้อฉลุลายดอกไม้อย่างงดงามและนุ่งผ้าโสร่งหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ปาเต๊ะ 

กลายเป็นที่มาของ โครงการการสร้างผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ โดยวิทยาลัยชุมชนระนอง ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ที่เห็นถึงความสำคัญของการสร้างมูลค่าด้านทุนทางวัฒนธรรมด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะที่สะท้อนวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของชุมชน เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่แรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในจังหวัด 

โครงการที่เกิดขึ้นนี้ได้เข้าไปจุดประกายให้คนในชุมชนเห็นศักยภาพในตัวเองและความเป็นไปได้ในการประกอบอาชีพ ก่อนจะผลักดันให้กลุ่มเป้าหมายสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ได้ด้วยตัวเอง 

โดย กลุ่มเป้าหมายชุดแรก ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายในตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ ได้มีการผลิตพวงกุญแจกาหยู (เม็ดมะม่วงหิมพานต์ของดีเมืองระนอง) ตะกร้าสาน ที่ใส่แก้วกาแฟพิมพ์ลาย และกระเป๋าหิ้วผ้าปาเต๊ะเก็บรักษาอุณหภูมิ  

กลุ่มเป้าหมายชุดที่สอง ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายในอำเภอเมือง มุ่งผลิตกล่องเอนกประสงค์ พวกกุญแจของที่ระลึก กระเป๋าผ้าปาเต๊ะลูกกาหยู และชุดเสื้อผ้าสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นหลัก 

กลุ่มเป้าหมายชุดที่สาม ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายใน ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ ที่เลือกผลิตภัณฑ์ซองใส่แว่นและที่เก็บกุญแจจากปาเต๊ะ 

จากการกระตุ้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์จากชุมชน ทำให้ชาวบ้านได้ใช้เวลาว่างสร้างรายได้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน อีกทั้งโครงการฯ ยังได้จัดเวทีพาผู้ประกอบการมาเจอกับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ช่วงต้นโครงการ รวมถึงมีการจัดอบรมการตลาดแบบตัวต่อตัวระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ผลิตโดยตรงเพื่อให้ชุมชนเปิดร้านค้าของตัวเองบนตลาดออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยนำเสนอเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ออกไปสังคมในวงกว้าง

ถึงที่สุดแล้วโครงการฯ นี้ได้สำเร็จลงในแง่ของการจุดประกายให้ชาวบ้านมีทักษะและองค์ความรู้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนตัวเอง ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมๆ ไปกับการหารายได้เข้าสู่ครัวเรือน ซึ่งในอนาคตกลุ่มเป้าหมายที่ผลิตสินค้าคล้ายกันก็จะสามารถเข้ามารวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มและช่วยกันต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความต้องการของตลาดได้ต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การสร้างผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนระนอง

จังหวัด

ระนอง

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวสุข์พิณ์ฌา ไสยวงศ์
โทร: 094-3236549

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ และทักษะสำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ
  2. ผู้เข้าร่วมโครงการมีศักยภาพในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส