อบต.ยางใหญ่เปิดโครงการสอนการขายผ่านออนไลน์ ติดทักษะเทคโนโลยี เพิ่มช่องทางหารายได้ให้กับชุมชน

อุบลราชธานี ขายออนไลน์

ชาวบ้านน้ำยืน ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง พัฒนาชุมชนด้วยสื่อออนไลน์

อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่องทุเรียนภูเขาไฟ ด้วยรสชาติที่หวาน มัน  ไร้กลิ่น ทำให้ทุเรียนจากอำเภอน้ำยืนมีราคาสูงกว่าที่อื่นๆ แต่ในราคาที่ ‘สูงกว่า’เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนก็ยังคงได้ราคาเท่าเดิม จากการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ส่งผลให้ชาวบ้านอำเภอน้ำยืน จำเป็นต้องหาหนทางใหม่ในการประกอบอาชีพ เนื่องจากเห็นพ้องต้องกันว่า อำเภอน้ำยืนนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกมากมาย มีของดีน่าสนใจที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ อีกทั้งอาหารการกินก็มีรสชาติไม่แพ้ที่อื่น ขณะที่ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวหลายแห่งก็ตั้งอยู่ท่ามกลางวิวหลักล้าน เพียงแต่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดีพอ

โครงการพัฒนามัคคุเทศก์ชุมชนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้สื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสในพื้นที่ ภายใต้ องค์การบริหารส่วนตำบลยางใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี จึงถือเกิดขึ้นเพื่อเป็นเวทีกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของตำบล ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน โดยเฉพาะการทำการตลาดออนไลน์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกันอยู่ในขณะนี้ 

โครงการฯ นี้ ทีมงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลยางใหญ่ จึงตั้งเป้าในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการครั้งนี้ไว้  120 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มเกษตรกรต้นน้ำ หรือกลุ่มผู้ผลิตสินค้า กลุ่มที่สองคือ กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มงานบริการ หรือ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนว่างงาน 20 คน ผู้สูงอายุ 5 คน กลุ่มที่ได้รับเงินจากรัฐ 5 คน ทั้งหมดจะร่วมตัวกันเป็นเครือข่ายที่จะเข้ามาสนับสนุนการท่องเที่ยวของชุมชน  

โดยทางโครงการได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อจัดอบรมตามความเหมาะสมกับกลุ่มๆ นั้น เช่น กลุ่มเกษตรกรต้นน้ำ ให้ความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์ เช่นการดูแลดิน ดูแลต้นไม่ การทำปุ๋ย ในส่วนของกลางน้ำหรือกลุ่มพ่อค้าก็ให้ความรู้เรื่องการตลาด การค้าขาย สำหรับกลุ่มงานบริการ โครงการเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับการสื่อสาร การนำเสนอข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น   

สำหรับ ‘ตลาดออนไลน์’ เป็น Platform ขนาดใหญ่ กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าก็ไม่ได้แคบดังเช่นตลาดในตัวอำเภอ หรือ ในตัวจังหวัดอีกต่อไป แต่มันคือ ‘โลกทั้งใบ’ โลกที่ผู้คนจะมาซื้อและขายสินค้าผ่านช่องทางที่เรียกว่า ‘ออนไลน์’ 

เมื่อตลาดใหญ่ขึ้น ลูกค้ามีมากขึ้น  นั่นหมายความว่า ‘ผู้ค้า’ ก็มีมากขึ้นเช่นกัน  และทำให้การแข่งขันบนตลาดออนไลน์จึงมีสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น การเอาตัวรอดบนตลาดออนไลน์จึงเป็นทักษะสำคัญ

โดยกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3  กลุ่มจะได้เรียนรู้หลักสูตรเรื่องการตลาดออนไลน์ เช่นการสร้างคอนเทนท์ การถ่ายรูปเพื่อการโฆษณาโดยใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการไลฟ์สด โดยได้รับเกียรติจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมาช่วยเป็นวิทยากรให้ความรู้  วิทยากรอีกกลุ่มคือผู้ประกอบการที่สำเร็จในเรื่องออนไลน์  มีคนติดตามมากกว่าแสนคน เป็นคนรุ่นใหม่จากอำเภอบ้านยืนเอง

อย่างไรก็ดีภาพความสำเร็จของวันนี้ยังมีพื้นที่ให้พัฒนาอีกมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงการก็นับว่าเป็นหมุดหมายอันสำคัญสำหรับการต่อยอดในอนาคต นั่นคือมีเครือข่ายทีมงานด้านการท่องเที่ยวที่รวมกลุ่มกันแข็งแรง รวมถึงมีกลุ่มชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับการอบรมพัฒนาให้มีทัศนคติที่ชัดเจนในการสร้างรายได้ และมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะอาชีพของตน รวมถึงเห็นแนวทางการทำตลาดออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดจะนำมาสู่ปลายทางแห่งความสำเร็จที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนได้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนามัคคุเทศก์ชุมชน ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยใช้สื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างโอกาสในพื้นที่

ชื่อหน่วยงาน

องค์การบริหารส่วนตำบลยางใหญ่

จังหวัด

อุบลราชธานี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายปัญญา สะนัย
โทร: 085-4150717

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. ลดความเลื่อมล้ำของชุมชนในการพัฒนารายได้ และเศรษฐกิจของพื้นที่ตนเองและพื้นที่ข้างเคียง
  2. ชุมชนชาวสวนและประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนคุณทรัพย์และด้อยโอกาสในพื้นที่ สามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการ และมีช่องทางการขายที่หลากหลาย
  3. มีเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และทุนทางสังคม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ
  4. มีทักษะการติดต่อประสานงาน การทำงานเป็นหมู่คณะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาดและการจัดจำหน่ายเทคนิควิธีการที่มีศักยภาพ เรียนรู้ตลอดชีวิต

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส