เครือข่ายวัฒนธรรมฯ บูรณาการวิถีชุมชนอาข่ากับความรู้สากล เพื่อติดเครื่องมืออาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตชาว ‘อาข่า’
เชื่อว่าคนไทยแทบทุกคนต้องเคยได้ยินถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชื่อว่า ‘อาข่า’ มาบ้าง ไม่มาก็น้อย แต่หลายคนคงไม่รู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้ไม่ได้อาศัยอยู่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่กระจายอยู่ในทวีปเอเชียถึง 5 ประเทศ คือ จีน ลาว พม่า เวียดนาม และประเทศไทย โดยมีจำนวนประชากรทั้งหมด 2.3 ล้านคนเลยทีเดียว จากจำนวนนี้ราว 110,000 คนพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในแถบจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง
ชาวอาข่าที่อยู่ในประเทศไทยนั้น มีวิถีชีวิต ความเชื่อ และภาษาเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ทำให้พวกเขาอุดมไปด้วยองค์ความรู้ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การรักษาโรคด้วยสมุนไพร และงานหัตถกรรมต่างๆ เช่น การประดิษฐ์ของใช้ในครัวเรือน เครื่องประดับตามร่างกาย เป็นต้น
แต่สิ่งที่สืบสานต่อกันมาของชาวอาข่า ไม่ได้มีแค่ด้านวิถีชีวิตที่งดงามเท่านั้น แต่ยังมีด้านของปัญหาคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากถิ่นฐานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การงานอาชีพ หรือแม้แต่สถานะบุคคลตามกฎหมาย
เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า ที่ทำงานร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวอาข่ามาเป็นระยะเวลานาน จึงได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิตชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย’ โดยมีเป้าหมายเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากให้กับผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเพิ่มคุณชีวิตชีวิตของคนในชุมชน ผ่านการ ‘ติดเครื่องมืออาชีพ’ ที่จะสร้างทักษะให้พวกเขานำไปใช้สร้างอาชีพต่อไป
เมื่อเป็นการติดเครื่องมืออาชีพ กลุ่มเป้าหมายที่เครือข่ายวัฒนธรรมฯ กำหนดไว้จึงมีความกว้างหลากหลาย ตั้งแต่แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ กล่าวคือครอบคลุมประชากรด้อยโอกาสทุกรูปแบบในชุมชน โดยจะทำการเปิดคัดเลือกผู้เข้าอบรมจากพื้นที่ในอำเภอเมือง อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่จัน
คนที่เข้าอบรมในโครงการพัฒนาอาชีพฯ นี้จะได้ร่ำเรียนการปูพื้นฐานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นจากบุคลากรผู้รู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านหัตถกรรม เช่น จักสาน ตีมีด และงานผ้า รวมไปถึงการผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการถนอมอาหารพื้นบ้าน จากนั้นก็จะมีกลุ่มเครือข่ายจากภายนอกเข้ามาช่วยเสริมองค์ความรู้ที่เป็นสากลมากขึ้น เช่น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ศูนย์สมุนไพรจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เป็นต้น
โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิตชนเผ่าอ่าข่า จึงเป็นโครงการที่พยายามบูรณาการองค์ความรู้ท้องถิ่นในชุมชนกับความรู้ที่เป็นสากล เพื่อทำให้คนในชุมชนเองสามารถผลิตสินค้าและบริการออกมาได้ตามความต้องการของตลาด แต่ไม่ทิ้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้คนในชุมชนกลายเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ที่สามารถส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับลูกหลานได้ต่อไป
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิตชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- เกิดต้นแบบแหล่งเรียนรู้ และการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิต ขยายผลสู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
- เกิดเครือข่ายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ร่วมพัฒนาการตลาดชนเผ่าในจังหวัด เชียงราย
- กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ทักษะอาชีพ สามารถเป็นผู้สอนให้ความรู้แก่ผู้อื่น มีอาชีพประกอบในชุมชนสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล่ำ ให้แรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้