ม.พะเยานำต้นทุนในชุมชนแม่กา มาต่อยอดเป็นโครงการฝึกทักษะสร้างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดออนไลน์

พะเยา การแปรรูปผลิตภัณฑ์

ตำบลแม่กา จังหวัดพะเยา นับว่าเป็นตำบลที่มี ‘ของดี’ ประจำชุมชนอย่างตะไคร้หอม แต่สิ่งที่วิทยาลัยการศึกษา จังหวัดพะเยาพบคือคนในพื้นที่ยังขาดทักษะความรู้ในการเพิ่มมูลค่าของของดีเหล่านั้น ทั้งยังขาดทักษะฝีมือในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในชุมชนยังเข้าไม่ถึงแหล่งฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเอง

วิทยาลัยการศึกษาจึงได้ทำการลงพื้นในตำพลแม่กาเพื่อเปิดรับสมัครกลุ่มคนที่ขาดโอกาสเข้ามาเป็นสมาชิกของโครงการจำนวน 73 คน ประกอบไปด้วยแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ซึ่งคนส่วนใหญ่มีจุดร่วมคือเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในการศึกษานอกระบบ

เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายตามที่คาดหวังแล้ว โครงการได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงาน 3 ประเด็น คือ 1.รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตะไคร้หอม 2.ฝึกฝนทักษะการวางแผนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านการตลาดหลากหลายรูปแบบให้กับกลุ่มเป้าหลาย 3.กลุ่มเป้าหมายเกิดองค์ความรู้และทักษะการทำน้ำสมุนไพร

จากเป้าหมายทั้ง 3 ข้อนี้ โครงการจึงได้พัฒนาหลักสูตรอาชีพขึ้นมา โดยมุ่งเน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอมให้เกิดมูลค่ามากขึ้น เช่น การทำน้ำสมุนไพร การทำโคมไฟไล่ยุง และการทำเทียนหอมไล่ยุง โดยหลังจากการอบรมในส่วนของทักษะอาชีพ โครงการยังฝึกสอนเรื่องการตลาดในสื่อหลากหลายรูปแบบซึ่งรวมถึงสื่อดิจิตอลด้วย

ความท้าทายของโครงการนี้คือต้องทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่มีประสบการณ์มายาวนาน คณะผู้ดำเนินงานจึงต้องพยายามผสมผสานองค์ความรู้ใหม่เข้ากับองค์ความรู้เดิมที่กลุ่มเป้าหมายนี้ยึดถือ เพื่อค่อยๆ ปรับกระบวนการคิดและปฏิบัติให้เกิดการต่อยอด

หลังจากที่ได้มีการฝึกอาชีพกัน โครงการก็ได้สัมผัสถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเริ่มจากความสุขที่สมาชิกทุกคนได้เข้ามาร่วมกันเรียนรู้งาน มีการรวมกลุ่มเพื่อทำงานด้วยกัน และที่สำคัญคือเห็นความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้นจากกลุ่มเป้าหมาย

การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากและหลากหลาย เป็นความท้าทายที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เลือกที่จะไม่คัดสรรแค่กลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้โครงการนี้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเปิดโอกาสให้คนที่สนใจกล้าในการสมัครมาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพัฒนาชุมชนในภาพรวม

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพน้ำดื่มสมุนไพร, โคมไฟไล่ยุง, เทียนหอมไล่ยุง สำหรับนักศึกษาสังกัด ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

จังหวัด

พะเยา

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ดร.ลำไย สีหามาตย์
โทร: 094-2897854

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. มีการจัดรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากตะไคร้หอม
  2. มีทักษะการวางแผนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผ่านการตลาดที่หลากหลายรูปแบบ
  3. ผู้เข้ารับการอบรมร้อยละ 80 มีองค์ความรู้และทักษะการทำน้ำสมุนไพรและการทำโคมไฟตะไคร้ไล่ยุง การทำเทียนหอมไล่ยุง
  4. ผู้ผ่านการอบรมมีอาชีพสามารถสร้างรายได้จากการทำน้ำสมุนไพรและการทำโคมไฟตะไคร้ไล่ยุง การทำเทียนหอมไล่ยุง
  5. มีการสร้างภาคีเครือข่ายในกระจายสินค้ากับผู้ที่มีความรู้ทางด้านการตลาด
  6. ผู้ผ่านการอบรมสามารถพัฒนาช่องทางการตลาดได้ด้วยตนเอง
  7. การสร้างรายได้จากสมุนไพร

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส