ม.มหิดล นครสวรรค์ ดึงผู้ด้อยโอกาสมาฝึกทักษะผลิตชะลอมไม้ไผ่ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์สะท้อนวิถีชุมชน ตอบโจทย์ความต้องการในท้องถิ่น

นครสวรรค์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์

เพราะทำงานด้านวิชาการในจังหวัดนครสวรรค์มาเป็นเวลานาน โดยส่วนใหญ่จะเน้นที่การสำรวจทรัพยากรต่างๆ เช่น พันธุ์ไม้ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แต่ผศ.ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ กลับพบว่า ชาวบ้านไม่ค่อยได้ประโยชน์จากงานเหล่านี้เท่าไร จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ทำอย่างไรชาวบ้านถึงจะมีรายได้มากขึ้น

จากคำถามดังกล่าว กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ผศ.ดร.กิตติคุณ อยากช่วยให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หลังจากพยายามสืบค้นทุนพื้นฐานในชุมชน ก็พบว่าในอดีต คนในชุมชนตำบลบางมะฝ่อ ตำบลบางประมุง และตำบลตะเคียนเลื่อน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและเครื่องจักสาน เนื่องจากสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่มีไม้ไผ่จำนวนมากในท้องถิ่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลิตภัณฑ์พลาสติกก็ได้รับความนิยมมากกว่า ‘เครื่องจักสาน’ ซึ่งเคยเป็นสินค้าขึ้นชื่อก็เริ่มหายไป

เมื่อเห็นของดีที่มีอยู่ในชุมชน ผศ.ดร.กิตติคุณจึงมองเห็นว่านี่คือ ‘โอกาส’ สำคัญที่จะทำให้ความคิดเรื่องการสร้างรายได้เพิ่มให้คนในท้องถิ่นเป็นจริง จึงเกิดเป็นโครงการต่อยอดชะลอมเป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนคลองบางประมุง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีเป้าหมาย 2 เรื่อง คือการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน และอนุรักษ์ต้นไผ่สีสุก ที่มีคุณสมบัติเหนียวและสานง่าย ให้คงอยู่คู่ชุมชนตลอดไป 

ผศ.ดร.กิตติคุณเล่าว่า หลังจากได้รับทุนสนับสนุน ได้เชิญชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลมาร่วมประชุม และค้นหากลุ่มเป้าหมายจำนวน 80 คน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่มีพื้นฐานด้านการทำเครื่องจักสานอยู่บ้าง ซึ่งผศ.ดร.กิตติคุณกล่าวว่า “เราอยากเปิดตลาดเครื่องจักสานให้ต่างไปจากเดิม เพราะผู้สูงอายุที่ทำผลิตภัณฑ์แบบเดิม จะเจาะกลุ่มได้เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น จึงอยากขยายตลาดเครื่องจักสานให้กว้างขึ้น เน้นเรื่องการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย โดนใจวัยรุ่น แต่ยังคงใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม” 

กระบวนการฝึกอบรมจะเริ่มจาก (1) จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการ (2) การออกแบบผลิตภัณฑ์ชะลอมให้มีรูปทรงแปลกใหม่ จากที่เคยสานกระบุง กระจาด กระด้ง ก็ให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น เช่น ชะลอมเล็กๆ สำหรับใส่ผลิตภัณฑ์กล้วยกวน หรือใส่ของชำร่วย ของฝาก เป็นต้น และ (3) การตลาดออนไลน์

ผศ.ดร.กิตติคุณ เล่าต่อว่า ตามแผนการดำเนินงานที่ออกแบบไว้ เมื่อฝึกอบรมเสร็จ ทีมงานจะนำชะลอมไปส่งให้ร้านกล้วยกวนใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้านกล้วยกวนก็เลยขายของไม่ได้ คณะทำงานจึงปรับแผนให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ด้านการตลอดออนไลน์แทน ซึ่งระหว่างนี้คณะทำงานก็เข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการร้านต้นไม้และร้านอาหาร เพื่อสอบถามว่าต้องการใช้ชะลอมบ้างไหม และผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องการชะลอมรูปแบบใด เพื่อนำมาปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่อยากได้กระถางใส่ต้นไม้สำหรับตกแต่งในร้าน

ด้วยปัญหาที่รุมเร้าข้างต้น ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายบางส่วนท้อใจ ไม่มั่นใจว่าจะขายชะลอมได้จริง ผศ.ดร.กิตติคุณจึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการเปิดเพจชื่อ ‘ลอมชอม’ เพื่อเป็นช่องทางในการขายสินค้า โดยคณะทำงานจะช่วยดูแลในช่วงแรก พร้อมกับฝึกให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ด้านการตลาดออนไลน์ไปพร้อมกัน

ป้าจำรัส สุพนิชยโภคิน อายุ 68 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าว่า เธอทำเครื่องจักสานเป็นตั้งแต่เด็ก เวลาเสร็จจากการทำไร่ทำนาก็มาทำเครื่องจักสาน จนกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว เมื่อก่อนทำแล้วส่งขายที่ตัวเมืองจังหวัดพิจิตร มีกระด้ง เสื่อรำแพนสำหรับทำฝาบ้าน ทำไปขายไป พอผศ.ดร.กิตติคุณชวนมาเข้าร่วมโครงการ ก็รู้สึกสนใจ อยากทำเครื่องจักสานรูปแบบใหม่ๆ บ้าง เผื่อจะมีรายได้เพิ่มขึ้น

“เทคนิคการสอนของอาจารย์ก็คือ เขาจะหาภาพตัวอย่างสวยๆ มาให้เราดูเป็นตัวอย่าง และให้เราลองทำดู เราก็เริ่มทำจากตะกร้าใส่ผลไม้ก่อน ต่อด้วยตะกร้าใส่ของไปทำบุญ พอฝึกทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเก่งขึ้น ตอนนี้ไม่ว่าลูกค้าอยากได้แบบไหน ป้าทำได้หมด มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,400 บาท/เดือน ดีใจมาก” ป้าจำรัสกล่าว ซึ่งผศ.ดร.กิตติคุณ ย้ำว่าสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายได้นอกเหนือจากรายได้ ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนที่แน่นแฟ้นมากขึ้น

เมื่อถามถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ผศ.ดร.กิตติคุณอธิบายว่า เขาพอใจในระดับหนึ่ง แต่สำหรับด้านการเป็นผู้ประกอบการยังไม่โอเคเท่าไร เพราะกลุ่มเป้าหมายยังบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำเองไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุน จึงต้องค่อยๆ ให้เขาเรียนรู้ ว่าชะลอมใบหนึ่งใช้ตอกกี่เส้น ใช้เวลาจักตอกนานเท่าไร สานนานเท่าไร แล้วนำมาคิดเป็นต้นทุน 

“ผมทำงานด้านวิชาการมานาน แต่ก็ไม่มีโครงการไหนยากเท่านี้ อาจเป็นเพราะมันมีปัญหาเฉพาะเข้ามาให้แก้ไขตลอดเวลา ทำให้การทำงานไม่เป็นไปตามแผน กว่าจะเริ่มโครงการได้ก็ใกล้หมดระยะเวลาของโครงการแล้ว คณะทำงานเลยต้องเร่งมือ ผนวกกับกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สายตาก็ไม่ค่อยดี เรี่ยวแรงน้อย และไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี เมื่อต้องมาฝึกฝนใหม่จึงรู้สึกว่ายาก แต่เราก็ไม่ท้อนะ” ผศ.ดร.กิตติคุณกล่าว

แม้ว่าจะยาก แต่กระบวนการทำงานก็ทำให้ผศ.ดร.กิตติคุณ เรียนรู้ว่า การศึกษาที่ดีคือการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งเขาเสริมว่า “พอเข้ามาทำงานกับชุมชน เราเห็นชัดเจนเลยว่า การศึกษาในระบบไม่สามารถตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้ ป้าๆ ที่อยู่ในชุมชน เขาก็สามารถเรียนรู้ได้ หากมีคนคอยชี้แนะ เช่น เราสอนให้เขาดูการสานชะลอมผ่านยูทูบ ดูแป๊บเดียวเขาก็ทำได้เลย”

ด้าน ผศ.ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ หนึ่งในคณะทำงาน เล่าว่า “การทำงานกับชุมชนให้ประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งคนในชุมชน เทศบาล รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องเข้ามาสานต่อในเรื่ององค์ความรู้ใหม่ๆ ที่กลุ่มผู้สูงอายุเข้าไม่ถึง เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด เป็นต้น”

อย่างไรก็ตามกลุ่มเป้าหมายยังคงต้องต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อก่อให้เกิดรายได้ที่มากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าตัวชี้วัดด้านรายได้ก็คือ ‘คุณค่า’ ที่เกิดขึ้นจากการได้รื้อฟื้นภูมิปัญญาด้านเครื่องจักสานของชุมชนให้กลับมา รวมถึงเกิดการกระชับความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่น จากการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ซึ่งกลายเป็นสายสัมพันธ์ที่ช่วยยึดโยงคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นมากกว่าเดิม

และในวันนี้ แม้ว่าโครงการจะจบลงไปแล้ว แต่ความรู้ที่เกิดขึ้นก็ถูกนำไปสร้างประโยชน์อย่างต่อเนื่อง อย่างการที่ผศ.ดร.กิตติคุณ ได้นำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดให้ชุมชนของกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้นแบบให้กับนักศึกษาเพื่อลงเรียนเป็นวิชาเลือกเสรี เพื่อสร้างสรรค์และออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยมีความคาดหวังว่าเครื่องจักสานบ้านบางประมุงและบ้านบางมะฝ่อ จังหวัดพิจิตร จะกลับมาโลดแล่นในตลาดเครื่องจักสานอย่างแข็งแกร่งได้อีกครั้ง

“ผมทำงานด้านวิชาการมานาน แต่ก็ไม่มีโครงการไหนยากเท่านี้ อาจเป็นเพราะมันมีปัญหาเฉพาะเข้ามาให้แก้ไขตลอดเวลา ทำให้การทำงานไม่เป็นไปตามแผน กว่าจะเริ่มโครงการได้ก็ใกล้หมดระยะเวลาของโครงการแล้ว คณะทำงานเลยต้องเร่งมือ ผนวกกับกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สายตาก็ไม่ค่อยดี เรี่ยวแรงน้อย และไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี เมื่อต้องมาฝึกฝนใหม่จึงรู้สึกว่ายาก แต่เราก็ไม่ท้อนะ” ผศ.ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การต่อยอดชะลอมเป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนคลองบางประมุง จังหวัดนครสวรรค์

ชื่อหน่วยงาน

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จังหวัด

นครสวรรค์

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผศ.ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์
โทร: 089-8512939

เป้าประสงค์โครงการ

  1. คนในชุมชนมีทักษะและแนวคิดสร้างสรรค์ในการจักสานชะลอม ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด
  2. คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากการจักสานชะลอมอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง
  3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์จากชะลอม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส