วิทยาลัยชุมชนน่าน เปิดหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพให้กับผู้ด้อยโอกาสและผู้ถูกคุมประพฤติ สร้างอาชีพหมอนวดที่สอดคล้องกับการเติบโตของจังหวัดน่าน
นวดแผนไทย คือศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่ช่วยในการบำบัดรักษาอาการปวดเมื่อยที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาแพทย์แผนไทยให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อจุดมุ่งหมายในการดูแลสุขภาพแบบตะวันออกและอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาไทย
การนวดเพื่อสุขภาพนั้นมีประโยชน์หลากหลายและสามารถปรับรูปแบบได้ตามความต้องการของผู้เข้ารับการนวด ไม่ว่าจะเป็นการแก้อาการปวดเมื่อย ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ช่วยคลายความเครียด หรืออย่างในปัจจุบันที่พนักงานออฟฟิศหลายคนต้องพบเจอกับกลุ่มอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ซึ่งก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก การนวดก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
ด้วยประโยชน์ที่มากมายของการนวดทำให้ไม่ว่าชาวไทยหรือต่างชาตินิยมทำกิจกรรมนี้กันทั้งสิ้น ตลาดร้านนวดแผนไทยจึงมีจำนวนมากมาย หาได้ไม่ยากในทุกจังหวัด ซึ่งจังหวัดน่านก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งกำลังเติบโตในฐานะเมืองท่องเที่ยวและเมืองแห่งประวัติศาสตร์ วิทยาลัยชุมชนจังหวัดน่านจึงได้เห็นโอกาสในการสร้างแรงงานฝีมือออกมาเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ ผ่านโครงการ ‘การส่งเสริมอาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ’
กลุ่มเป้าหมายของโครงการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ด้อยโอกาสที่เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 40 คน และ 2.ผู้ถูกคุมประพฤติที่เป็นบุคคลที่ขาดโอกาสในการทำงานที่มั่นคงจำนวน 10 คน รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 50 คน โดยสมาชิกทั้งหมดนี้จะได้รับการฝึกฝนอบรบจากแพทย์แผนไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านศาสตร์การนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพเป็นเวลา 150 ชั่วโมงเต็ม
หากมองด้านความพร้อมและศักยภาพในการสอนก็ต้องนับว่าวิทยาลัยชุมชนน่านมีผลงานและความสำเร็จด้านการฝึกทักษะให้กับประชาชน โดยเฉพาะด้านการนวด เพราะวิทยาลัยชุมชนน่านมีหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพที่ผ่านการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ออกไปมากมาย โดยบางส่วนได้ออกไปเป็นแรงงานหมอนวด และบางส่วนก็ได้ออกไปเป็นผู้ประกอบการร้านนวดแผนไทยในจังหวัดน่าน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้อย่างมั่นคง
การจัดโครงการส่งเสริมอาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพนี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานด้อยโอกาสในพื้นที่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์สามารถมีอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคง และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองขึ้นมาให้มีความเป็นอยู่ที่ไม่ลำบากได้ นอกจากนี้การผลิตแรงงานนวดไทยที่ได้มาตรฐานออกมา ย่อมจะช่วยให้ภูมิปัญญาไทยประเภทนี้ได้รับการสืบสานโดยไม่ถูกบิดเบือนหรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การส่งเสริมอาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถประกอบอาชีพการนวดไทย ได้อย่างน้อยร้อยละ 60
- เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดการรวมกลุ่มอาชีพที่เข้มแข็ง สามารถสร้างเครือข่ายการประกอบอาชีพได้
- เปิดช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ทันยุค 4.0