เครือข่ายวัฒนธรรมฯ บูรณาการวิถีชุมชนอาข่ากับความรู้สากล เพื่อติดเครื่องมืออาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตชาว ‘อาข่า’
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวเขา โดยเฉพาะกับชนเผ่าอ่าข่า ซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติและความเชื่อดั้งเดิม ประกอบกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเจริญ’ ยังเข้ามาทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชนเผ่าอ่าข่าเปลี่ยนไป
จากเดิมที่ประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน หาอยู่หากินแบบพึ่งพิงธรรมชาติ และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ก็กลับกลายเป็นว่า คนหนุ่มสาวต้องเดินทางลงจากภูเขา เข้าสู่เมือง เพื่อทำงานรับจ้าง บ้างเข้าสู่ตลาดแรงงานไกลถึงต่างแดน เพื่อปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม ทว่าการปรับตัวนี้ก็ยังไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำหายไป
ด้านคนหนุ่มอย่าง ‘อาทู่’ ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก มองเห็นประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน จึงได้ก่อตั้ง Athu Akha Home เพื่อเป็น ‘ลานวัฒนธรรม’ ให้กลุ่มชาติพันธุ์และคนเมืองในจังหวัดเชียงราย ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และวัฒนธรรม ประกอบกับการทำความเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอ่าข่า เพื่อค้นหาแนวทางที่จะสนับสนุน และส่งเสริมให้ชนเผ่าอ่าข่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
แม้การเข้าร่วมทำงานวิจัยของอาทู่จะทำให้เกิดการฟื้นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่าอ่าข่ามากมาย อาทิ ระบบการแพทย์ชนเผ่า พิธีกรรมต่างๆ งานจักสาน การทอผ้า ฯลฯ แต่ก็ยังมีเงื่อนไขบางประการ ซึ่งขัดขวางให้ไม่สามารถพัฒนาประเด็นดังกล่าวไปสู่จุดที่นำไปสร้างรายได้
“ที่ผ่านมาเราเอาความรู้ด้านการแพทย์ไปสนับสนุนการรักษาแบบพื้นบ้านในโรงพยาบาลระดับตำบล ส่วนงานประเพณีก็เอาไปโยงกับการท่องเที่ยว แต่มันก็ยังไม่ครอบคลุม เพราะติดเงื่อนไขเรื่องงบประมาณในการทำงาน หลายอย่างเรายังต้องการความรู้จากภายนอกชุมชน และบางเรื่องก็ต้องการให้องค์กรรัฐสนับสนุน” อาทู่ กล่าว
ซึ่งการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ช่วยให้เป้าหมายของ ‘โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิตชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เนื่องจากเป้าหมายของโครงการนี้คือการ ‘ให้โอกาส’ กลุ่มคนที่ยังขาดโอกาส อาทู่จึงออกแบบกระบวนการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการลงพื้นที่พร้อมกับแกนนำจาก 5 ชุมชน จนได้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 115 คน โดยหวังว่าการสร้างอาชีพด้วยการใช้ฐานความรู้และประสบการณ์ของชุมชน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมชนเผ่าอ่าข่าได้อีกทอดหนึ่ง ผ่านพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ลานแดข่อง’ หรือลานวัฒนธรรม
อาทู่ อธิบายกระบวนการทำงานของชุมชนว่า “เรื่องที่กลุ่มเป้าหมายต้องทำร่วมกันก็คือ ค้นหาผู้รู้ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จากแต่ละชุมชน เช่น ‘ป้าเพ็ญ’ วันเพ็ญ ศักดิ์สุทธิเสน ซึ่งเป็นปราชญ์ด้านการทอผ้า มาให้คำแนะนำ แล้วค่อยให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการทอผ้าไปเรียนกับป้าเพ็ญอีกที”
ซึ่งป้าเพ็ญเล่าว่า การทำงานแบบนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านห้วยเจริญ หันมาสนใจการทอผ้ามากขึ้น แต่ก่อน พวกเขาไม่รู้ว่าการทอผ้าจะกลายเป็นอาชีพได้อย่างไร เพราะชนเผ่าอ่าข่านิยมทอผ้าใส่เอง อีกทั้งยังดีใจที่ได้รื้อฟื้นภูมิปัญญาด้านนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน เนื่องจากในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการทำมาหากินมากกว่า จึงไม่มีเวลามานั่งสืบทอดการทอผ้าจากบรรพบุรุษ จนมีคนรุ่นใหม่ทอผ้าเป็นมากขึ้น จากเดิมที่มีแต่คนแก่เฒ่า
แต่ต่อให้มีคนรุ่นใหม่ทอผ้าเก่งขึ้นและขายดีสักเท่าไร ด้วยสถานะผู้ผลิตซึ่งอยู่ต้นน้ำ ผลิตเพื่อส่งขายเพียงอย่างเดียว ทำให้บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาครั้งนี้ตกอยู่ที่ ‘พ่อค้าคนกลาง’ ไม่ใช่ตัวกลุ่มเป้าหมายเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่ชนเผ่าอ่าข่าสลัดไม่หลุดมาเป็นระยะเวลานาน
อาทู่จึงย้ำถึงความสำคัญของลานแดข่องขึ้นมา โดยให้คำนิยามว่า “ลานแดข่องเปรียบเสมือน ‘ตลาดกลาง’ ทางความคิดและภูมิปัญญา เป็นที่รวบรวมเรื่องราวความเป็นอ่าข่าไว้ครบทุกด้าน และยังเป็นที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ของชุมชนในโครงการอีกด้วย โดยเราต้องมีสถานที่ที่ทำให้ชาวบ้านในเครือข่ายเห็นว่า ภูมิปัญญาที่ทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น งานจักสาน ผ้าทอ หรือแม้แต่อาหารการกิน มีพื้นที่ขายและมีคนให้ความสนใจ โดยไม่ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป”
สถานที่ตั้งของลานแดข่องตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง ห่างจากตัวเมืองจังหวัดเชียงรายกว่า 10 กิโลเมตร ทำให้โครงการมีแนวคิดขยายการตลาดออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
- ตลาดเส้นทาง
ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระดับภาคีเครือข่ายระหว่างชนเผ่าอ่าข่าทั้ง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สวย อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอเมืองเชียงราย โดยจะร่วมงานกันในด้านต่างๆ ให้สามารถวางจำหน่ายสินค้าได้ทั้ง 5 อำเภอ - ตลาดกลาง หรือก็คือลานแดข่อง
- ตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นตลาดที่เข้าถึงได้ง่าย ทุกเพศทุกวัย และเป็นสื่อพื้นฐานที่หลายๆ คนใช้งาน ซึ่งอาทู่ ระบุว่า “ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาตลาดออนไลน์ เพราะเป็นเรื่องใหม่ พวกเราคนรุ่นเก่าก็ไม่มีทักษะเรื่องนี้ จึงต้องอาศัยคนรุ่นใหม่เข้ามาดำเนินงาน ซึ่งตอนนี้ก็มีเด็กจบใหม่ที่กลับมาทำงานในชุมชน และเข้ามาช่วยพัฒนาระบบตลาดออนไลน์ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้ อาจยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน จากการดำเนินงานที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ปรากฏชัดในชุมชนอ่าข่าทั้ง 5 หมู่บ้านก็คือ ชาวบ้านเข้าใจแล้วว่าห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีความสำคัญอย่างไร และต้องดำเนินการอย่างไร ผ่านการใช้ทุนเดิมของ ‘ความรู้ ประสบการณ์ และบุคลากรในชุมชน มาต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีของชนเผ่าอ่าข่า’ สำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตชนเผ่าอ่าข่าต่อไป
“เราต้องมีสถานที่ที่ทำให้ชาวบ้านในเครือข่ายเห็นว่า ภูมิปัญญาที่ทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น งานจักสาน ผ้าทอ หรือแม้แต่อาหารการกิน มีพื้นที่ขายและมีคนให้ความสนใจ โดยไม่ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป” ‘อาทู่’ ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้ก่อตั้ง Athu Akha Home
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิตชนเผ่าอ่าข่า จังหวัดเชียงราย
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- เกิดต้นแบบแหล่งเรียนรู้ และการพัฒนาอาชีพจากภูมิปัญญาวิถีชีวิต ขยายผลสู่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
- เกิดเครือข่ายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ร่วมพัฒนาการตลาดชนเผ่าในจังหวัด เชียงราย
- กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ทักษะอาชีพ สามารถเป็นผู้สอนให้ความรู้แก่ผู้อื่น มีอาชีพประกอบในชุมชนสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล่ำ ให้แรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้