จากอาหารปลอดภัยในชุมชนสู่รายได้ที่ยั่งยืน ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านโนนพริก

ขอนแก่น ผู้ประกอบการ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนยุคนี้เรา ‘กินเป็น’ มากขึ้น กินเป็นที่ว่าคือการเลือกกินสิ่งแต่ดีๆ และ ลด ละเลิก อาหารที่ไม่ปลอดภัยหรือปนเปื้อนด้วยสารเคมี เทรนด์อาหารปลอดภัยไร้สารพิษจึงกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรหลายประเทศทั่วโลกต่างหันหน้ามามุ่งสู่การเกษตรวิถีอินทรีย์กันอย่างพร้อมเพรียง ในประเทศไทยก็มีหลายพื้นที่ขยับมาขานรับกับเทรนด์นี้ของชาวโลก เช่นในอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ที่มีศูนย์เรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรแบบอินทรีย์มาแล้ว และกำลังจะพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้นต่อไปด้วย

จากโครงการ “การยกระดับการประกอบอาชีพเสริมด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์” ที่ดำเนินงานโดย ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านโนนพริก ในปี 2562 และสิ้นสุดไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีผลลัพธ์ของโครงการคือจุดประกายการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยประจำชุมชน โดยในช่วงที่ผ่านมากลุ่มเป้าหมายได้บรรลุการทำแปลงเกษตรอินทรีย์มากกว่า 50 แปลง นอกจากการปลุกเพื่อกินเองแล้ว โครงการในปี 2562 ยังประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีสมาชิกหลายคนได้เข้าไปจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรในตลาดผักปลอดสารพิษในอำเภอพล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจครัวเรือนให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

แต่ถึงแม้ว่ากลุ่มเป้าหมายจะสามารถสร้างผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือน และสามารถนำไปจำหน่ายกันเองภายในชุมชนโดยมีบางส่วนส่งขายในตลาดของอำเภอและห้างสรรพสินค้า แต่กำลังการผลิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในท้องถิ่นและเครือข่ายเอกชนที่มีความต้องการในสินค้าเกษตรอินทรีย์ อาทิ ห้างสรรพสินค้าท็อปส์ซุปเปอร์มาเกต  ตลาดผักปลอดสารพิษอำเภอพล โดยมีการขอรับซื้อผลผลิตโดยตรงกับสมาชิกในโครงการ 

สาเหตุที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้เพียงพอต่อความต้องการมีหลายปัจจัย ทั้งขาดแคลนทักษะจัดการเครือข่ายเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถส่งผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ขาดการต่อยอดในองค์ความรู้ กลุ่มเป้าหมายไม่สามารถพัฒนาการเกษตรให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากไม่มีความรู้ในการพัฒนาแปลงเกษตรอินทรีย์ ขาดทักษะในการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากน้ำในพื้นที่เป็นน้ำกร่อยไม่เหมาะสมสำหรับการเกษตร 

ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านบ้านโนนพริก ตำบลโคกสง่า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จึงได้เสนอโครงการ  “การยกระดับผลผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์”  โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากโครงการมีความสามารถในการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่เป็นการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เคยได้พบจากโครงการในปี 2562 ที่พบว่าปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้เสียโอกาสทางการค้าไป เนื่องจากในระยะแรกกลุ่มวิสาหกิจได้ตั้งเป้าหมายไว้แค่เพียงการปลูกและใช้ในครัวเรือน แต่ในโครงการของปี 2563 นี้ โครงการต้องการที่จะยกระดับกำลังการผลิต ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชนต่อไป 

ในหลักสูตรการอบรม กลุ่มเป้าหมายจะได้รับการฝึกฝนทักษะในหลายด้าน เพื่อเป็นการวางรากฐานที่แข็งแรงให้กับอาชีพของตน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจภาพรวมของการทำงานและเห็นช่องทางในการพัฒนาตัวเอง

  1. ทักษะการวางแผนการเพิ่มผลผลิต ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
  2. ทักษะการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเกษตร ที่จะเข้ามาช่วยในการลดต้นทุนในการผลิต และเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับเกษตรกรในการรักษาคุณภาพของสินค้า
  3. ทักษะการบริหารจัดการน้ำและจุลินทรีย์ น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกษตรและส่งผลต่อปริมาณของผลผลิตโดยตรง ทักษะนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด หากสามารถบริหารให้เกิดประสิทธิภาพได้แล้วก็จะช่วย
  4. ทักษะในการบริหารเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาคีเครือข่าย ในการทำการเกษตรเพื่อการค้าจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ซึ่งการมีทักษะเหล่านี้ย่อมช่วยให้เกษตรกรสามารถมองเห็นภาพรวมการผลิต และได้รับทราบความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

หากโครงการสำเร็จลุล่วงตามแผนจะส่งผลให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลได้ รวมถึงยังสามารถตอบสนองต่อปริมาณความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง โดยท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่โครงการต้องการเห็นคือการที่กลุ่มเป้าหมายเกิดทักษะในการบริหารจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และสามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต  ผู้บริโภคจากทั้งตลาดภายในและภายนอกชุมชนได้แบบครบวงจร

ในภายภาคหน้าหลังจากที่โครงการปี 2563 ได้จบลง ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านบ้านโนนพริก ยังมีแผนงานที่จะประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของโครงการให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้รับทราบ เพื่อเป็นต้นแบบความสำเร็จของชุมชนในการรวมพลังกันทำการเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับเทรนด์อาหารโลกในปัจจุบันและอนาคต

สิ่งที่โครงการต้องการเห็นคือการที่กลุ่มเป้าหมายเกิดทักษะในการบริหารจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และสามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต  ผู้บริโภคจากทั้งตลาดภายในและภายนอกชุมชนได้แบบครบวงจร

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การยกระดับผลผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านโนนพริก จังหวัดขอนแก่น

จังหวัด

ขอนแก่น

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสุรพงษ์ ด่านซ้าย
โทร: 089-9207805

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเป้าหมายมีทักษะชีวิต สามารถดูแลสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 และการบริหารจัดการสำหรับศตวรรษที่ 21 พร้อมปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
  2. เกิดผลผลิตพืชผัก ผลไม้ และ/หรือสัตว์จากโครงการมีความต่อเนื่อง ได้คุณภาพ มาตรฐาน และตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกชุมชน
  3. กลุ่มเป้าหมายที่เคยได้รับการพัฒนาอาชีพในปีงบประมาณ 2562 สามารถพึ่งพาตนเองโดยการลดรายจ่ายภายในครัวเรือนเฉลี่ยได้ ไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มรายได้เฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 4,000 บาทต่อคนต่อเดือน  และกลุ่มเป้าหมายในปีงบประมาณ 2563 สามารถพึ่งพาตนเองโดยการลดรายจ่ายภายในครัวเรือนได้เฉลี่ย ไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน
  4. เกิดผู้ประกอบการรายย่อยที่มีการหนุนเสริมจากภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกชุมชน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของผู้เข้ารับการพัฒนาทักษะอาชีพทั้งหมด
  5. หน่วยพัฒนาอาชีพและกลุ่มเป้าหมายมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือและทักษะเชิงปฏิบัติการในการบริหารจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาคีเครือข่าย และตลาดทั้งภายในและภายนอกชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส