วิทยาลัยชุมชนยโสธรแก้ปัญหารายได้เกษตรกรสูงอายุ โดยเปิดสอนการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก ‘ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง’ ที่หลงเหลือจากกระบวนการทำผ้าไหม
บ้านน้ำอ้อมและบ้านโนนยาง จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสำหรับทอผ้าไหมกันอย่างกว้างขวาง ผู้ทอผ้าส่วนมากคือกลุ่มสตรีสูงอายุในชุมชน ช่วงแรกผลิตภัณฑ์ก็เป็นที่ต้องการของตลาด แต่เนื่องจากผ้าไหมมีราคาแพง ความนิยมจึงลดลง ทำให้รายได้จากการทอผ้าไหมลดตามไปด้วย
เมื่อการขายผ้าไหมไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ จึงเกิดปัญหาเรื่องรายได้ วิทยาลัยชุมชนยโสธร จังหวัดยโสธร จึงผลักดันโครงการพัฒนาทักษะเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตและวัสดุเหลือใช้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าขึ้น เนื่องจากคณะทำงานเล็งเห็นว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของคนในชุมชน มีวัตถุดิบที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้มากมาย อาทิ ลูกหม่อน รังไหม ดักแด้ และมูลไหม เป็นต้น โครงการนี้จึงมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากวัตถุดิบข้างต้น เพื่อเสริมรายได้ควบคู่กับการทอผ้าไหม
ทุกกระบวนการผลิตสินค้า มักเกิดสิ่งที่เรียกว่าวัสดุ ‘เหลือทิ้ง’ อยู่เสมอ ซึ่งวัสดุเหล่านี้มักถูกเมิน ไม่มีใครนำกลับมาใช้ประโยชน์ และกลายเป็นขยะที่ต้องกำจัดทิ้ง สวนทางกับการที่ทรัพยากรโลกที่มีอยู่จำกัดกำลังลดลง การนำวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมา ‘สร้าง’ ผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงเป็นทางออกที่กำลังได้รับความสนใจ
ชัยวิวัฒน์ วงศ์สวัสดิ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า “ตอนแรกที่เราเข้ามาในหมู่บ้าน เห็นชาวบ้านปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุเยอะ ก็พลันคิดว่า อีกไม่นานอาชีพนี้คงหมดไปจากชุมชน พอสอบถามชาวบ้านก็ได้ข้อมูลว่า งานทอผ้าเป็นงานหนัก ต้องใช้เวลาฝึกฝน เพราะส่วนใหญ่ทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม ปลูกหม่อน ตัดใบหม่อน สาวเส้นไหม ไปจนถึงการทอ กว่าจะได้เป็นผ้าหนึ่งผืน ใช้เวลาประมาณสองเดือน”
ซึ่งจากการลงพื้นที่ ชัยวิวัฒน์พบว่า ทั้งสองชุมชนมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ทำให้ปลูกใบหม่อนได้ไม่พอสำหรับเลี้ยงหนอนไหม เนื่องจากชุมชนขาดแหล่งน้ำที่สำคัญ ต้องเสียค่าไฟหรือค่าน้ำมันเพื่อสูบน้ำจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมาใช้รดต้นหม่อน ทำให้ต้องเสียต้นทุนในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ การดำเนินโครงการในช่วงเริ่มต้น จึงมุ่งไปที่เรื่องการจัดการระบบน้ำก่อน เพราะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปลูกหม่อน
“เป้าหมายโครงการเราคือการสร้างอาชีพให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้มีรายได้น้อย ด้วยการเพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต เราเลยมองว่าหากส่งเสริมให้ชาวบ้านทำได้ เขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อคนรุ่นหลังเห็นว่าการทอผ้ามีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงครอบครัว พวกเขาก็อาจกลับมารักษาภูมิปัญญาด้านนี้ แต่จากการสอบถามพบว่า ต้นทุนหลักของการทอผ้าคือการเลี้ยงไหม ซึ่งมีระบบน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ เราก็เลยต้องปรับแผนมาช่วยเรื่องนี้ก่อน ถ้าไม่จัดการเรื่องนี้ เราก็ทำขั้นตอนอื่นๆ ไม่ได้” ชัยวิวัฒน์เล่า
โครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องเป็นผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า โดยมีการวางแผนพัฒนาทักษะต่างๆ ตามเป้าประสงค์ ซึ่งต้องการช่วยเกษตรกรให้สามารถเพิ่มรายได้จากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า ผ่านการใช้ประโยชน์จาก ‘ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง’ ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต เช่น ผลหม่อน ดักแด้ มูลไหม เศษใบหม่อน เศษรังไหม และเศษผ้าไหม เป็นต้น ซึ่งวัสดุเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปและจัดจำหน่ายได้ เช่น ดักแด้สามารถแปรรูปเป็นอาหารได้ เศษผ้าไหมสามารถประดิษฐ์เป็นของใช้ได้
นอกจากการอบรมทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องแล้ว คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับด้าน ‘Digital Marketing’ หรือการตลาดแบบดิจิทัล เนื่องจากเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน ที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงลูกค้า และสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง เช่น การเปิดร้านบนสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม เป็นต้น
ส่วนปัญหาเรื่องน้ำ ซึ่งคณะทำงานมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้เป็นอย่างแรกนั้น คณะทำงานได้ประสานยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการช่วยลดต้นทุนของการปลูกต้นหม่อน โดยชาวบ้านช่วยกันดูแลระบบน้ำ เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม ส่งผลให้ในปัจจุบัน มีเครื่องสูบน้ำรอบอ่างเก็บน้ำใกล้ชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือสาธารณะที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน
เมื่อมีแหล่งน้ำสมบูรณ์และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ก็สามารถลดต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการปลูกต้นหม่อนไปกว่า 7,500 บาท/เดือน ซึ่งผลสำเร็จจากการแก้ปัญหานี้ สามารถการันตีได้จากรอยยิ้มของ แสงจันทร์ รัตนวัน หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ที่เล่าอย่างมีความสุขว่า “ดีใจมากๆ เพราะตอนนี้ไม่ต้องเสียเงินเยอะ สำหรับปลูกต้นหม่อน เมื่อก่อนเสียค่าไฟเดือนนึงก็หลายบาท”
นอกจากนี้ แสงจันทร์ยังกล่าวการนำวัสดุเหลือทิ้ง เช่น รังไหม มาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้อีกว่า เป็นสิ่งที่อยากรู้มานานแล้ว “จริงๆ เราก็พอรู้มาบ้าง ว่าของพวกนี้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ แต่เราไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่าเขาทำกันอย่างไร จะออกไปอบรมข้างนอกก็ไม่ได้อีก เพราะต้องดูแลบ้าน ยิ่งช่วงเลี้ยงไหม เราแทบออกไปไหนไม่ได้เลย กิจกรรมที่โครงการนี้มาทำร่วมกับชาวบ้าน ทำให้เราเห็นโอกาสสำหรับหารายได้เพิ่ม และได้ความรู้ด้านการแปรรูป ต่อจากนี้ ก็คงไม่ต้องทิ้งวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้อีกต่อไป”
สิ่งที่เกิดขึ้นกับแสงจันทร์และกลุ่มเป้าหมายคนอื่นๆ ที่บ้านน้ำอ้อมและบ้านโนนยาง เป็นผลสำเร็จจากการประสานงานระหว่างคณะทำงานจากวิทยาลัยชุมชนยโสธร ที่จัดหาวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ความรู้ ทั้งการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การจำหน่าย และการตลาด
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะกระทบให้การดำเนินโครงการล่าช้าไปบ้าง แต่จากคำยืนยันของกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า โครงการนี้ช่วยพัฒนาทักษะให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือทิ้งอย่างตรงจุด อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้านการขาย ซึ่งการพัฒนาทักษะ และกระบวนการคิดเรื่องการแปรรูปวัสดุเหลือทิ้ง ทำให้กลุ่มเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่มจากอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียต้นทุนไปอย่างเปล่าประโยชน์
“จริงๆ เราก็พอรู้มาบ้าง ว่าของพวกนี้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ แต่เราไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่าเขาทำกันอย่างไร จะออกไปอบรมข้างนอกก็ไม่ได้อีก เพราะต้องดูแลบ้าน ยิ่งช่วงเลี้ยงไหม เราแทบออกไปไหนไม่ได้เลย กิจกรรมที่โครงการนี้มาทำร่วมกับชาวบ้าน ทำให้เราเห็นโอกาสสำหรับหารายได้เพิ่ม และได้ความรู้ด้านการแปรรูป ต่อจากนี้ ก็คงไม่ต้องทิ้งวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้อีกต่อไป” แสงจันทร์ รัตนวัน หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาทักษะเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตและวัสดุเหลือใช้จากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
- ผลผลิต เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีคุณลักษณะกระตือรือร้นในการการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
- ผลลัพธ์ เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
- ผลกระทบ เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจําหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง