วิทยาลัยชุมชนยโสธรแก้ปัญหารายได้เกษตรกรสูงอายุ โดยเปิดสอนการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก ‘ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง’ ที่หลงเหลือจากกระบวนการทำผ้าไหม

ยโสธร เกษตรกรรม

จังหวัดยโสธรเป็นหนึ่งในจังหวัดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขึ้นชื่อด้านการผลิตเส้นไหมและทอผ้าไหม จากการสำรวจในชุมชนบ้านน้ำอ้อมและบ้านโนนยางซึ่งเป็นแหล่งผลิตเส้นไหมและผ้าไหมของจังหวัด พบว่าเกษตรกรผู้ทำอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและทอผ้า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งพยายามหารายได้เสริมนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรมรูปแบบอื่นๆ

แต่รายได้เสริมเหล่านั้น ก็นับว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก ทำให้ไม่สามารถดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่ให้เข้ามาเรียนรู้สืบทอดอาชีพเหล่านี้ได้ โจทย์สำคัญของทั้ง 2 ชุมชน จึงเป็นการหาวิธีเพิ่มรายได้ที่มาจากการประกอบอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า

วิทยาลัยชุมชนยโสธร ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางความรู้ของชุมชน ได้เล็งเห็นต้นทุนที่เป็นข้อได้เปรียบนั่นคือการที่เหล่าเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า มีฝีมือและสร้างผลผลิตคุณภาพสูงออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ทว่าขณะเดียวกันเกษตรกรกลุ่มนี้ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ที่การขาดองค์ความรู้ที่เท่าทันยุคสมัย เช่น เทคโนโลยีในการผลิตรูปแบบใหม่ๆ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ หรือ ทักษะค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นต้น วิทยาลัยชุมชนจึงได้จัดทำโครงการ ‘การพัฒนาทักษะเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตและวัสดุเหลือใช้จากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า’ ขึ้นมา เพื่อเสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่

ในขั้นต้น โครงการฯ จะทำการจัดหาวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การจำหน่าย และการตลาด มาร่วมกันร่างแผนการพัฒนาทักษะอาชีพ จัดทำเนื้อหาของโครงการ วางกลุ่มเป้าหมาย และสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อเป็นแบบแผนในการฝึกฝนอบรมต่อไป

พื้นที่ดำเนินงานของโครงการจะครอบคลุมใน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านน้ำอ้อมและบ้านโนนยาง ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายจะต้องเป็นผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า และมีการกำหนดเกณฑ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือจะต้องเป็นกลุ่มด้อยโอกาสที่เป็นแรงงานนอกระบบ ที่มีรายได้จากการทำอาชีพนี้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี เพื่อเป็นการกระจายโอกาสในการเรียนรู้ให้กับคนกลุ่มนี้อย่างเสมอภาค โครงการจะทำการคัดเลือกสมาชิกจำนวน 50 คน จากการสัมภาษณ์แบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นกลุ่มเริ่มต้นในการฝึกฝนอบรม

แผนการพัฒนาทักษะที่ได้จัดทำขึ้น ตั้งอยู่บนเป้าประสงค์ที่ต้องการช่วยเกษตรกรให้สามารถเพิ่มรายได้จากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหม โดยเห็นโอกาสจาก ‘ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง’ ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม เช่น ผลหม่อน ดักแด้ และมูลไหม เศษใบหม่อน เศษรังไหม เศษผ้าไหม เป็นต้น ซึ่งของเหล่านี้ล้วนสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปและจัดจำหน่ายต่อไปได้ เช่น การนำดักแด้มาแปรรูปเป็นอาหาร การนำเศษผ้าไหมมาประดิษฐ์เป็นของใช้

นอกจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องแล้ว แผนการพัฒนาฯ ยังให้ความสำคัญกับ ‘Digital Marketing’ หรือการตลาดแบบดิจิทัล ที่จะนำเทคโนโลยีออนไลน์เข้ามาช่วยในด้านการขาย การเข้าถึงกลุ่มลูกค้า และการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง เช่น การเปิดร้านเป็นผู้ใช้งานในสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Line และ Instagram

การจัดทำโครงการพัฒนานี้เป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนอย่างตรงจุด เพราะการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการขายนั้นจะทำให้คนกลุ่มนี้สามารถสร้างรายได้จากอาชีพปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าได้มากขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงมีการฝึกทักษะการนำเอา ‘ของเหลือทิ้ง’ เดิม มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายได้ ทำให้ลดการสูญเสียต้นทุนไปอย่างเปล่าประโยชน์ นับว่าเป็นการใช้ความสร้างสรรค์มาแก้ปัญหารายได้ของเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตและวัสดุเหลือใช้จากการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนยโสธร

จังหวัด

ยโสธร

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายชัยวิวัฒน์ วงศ์สวัสดิ์
โทร: 063-2723764

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. ผลผลิต เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีคุณลักษณะกระตือรือร้นในการการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  2. ผลลัพธ์ เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
  3. ผลกระทบ เกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจําหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส