วิสาหกิจชุมชนศูนย์สมุนไพรบ้านนกสืบสานการทำขนมท้องถิ่น ขนมประเพณีสารทเดือนสิบ สร้างอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ชุมชนอำเภอระโนด

สงขลา อื่น ๆ

 

ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม ส่งผลให้ประเพณีต่างๆ มีเอกลักษณ์จากการผสมผสานความเชื่อที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ ‘ประเพณีสารทเดือนสิบ’ เป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณบรรพชน ในวันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ (กันยายน) ของทุกปี ซึ่งหัวใจของสำรับประกอบพิธี ประกอบด้วยขนม 6 ชนิด ได้แก่ ขนมลา ขนมพอง ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมดีซำ ขนมบ้า และ ขนมเทียน ซึ่งแต่ละชนิดสื่อถึงสิ่งของต่างกัน เช่น ขนมลาแทนเครื่องนุ่งห่ม ขนมเทียนแทนหมอน เป็นต้น ซึ่งนอกจากการเป็นสำรับสำคัญคู่ประเพณีแล้ว ขนมสารทเดือนสิบยังเป็นขนมท้องถิ่นประจำภาคใต้ของประเทศไทยสามารถหารับประทานได้ตลอดทั้งปี 

แต่ด้วยผู้ผลิตขนมสารทเดือนสิบส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจึงเป็นที่น่ากังวลว่าอีกไม่นานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่คู่กับสังคมมาอย่างช้านานนั้นจะสูญสิ้นไป เช่น ขนมลาเป็นขนมที่ทำยาก มีร้านค้าผลิตขายไม่กี่แห่ง ทำให้ปริมาณอุปสงค์เกินขีดความสามารถในการผลิต กล่าวคือ ต้องสั่งล่วงหน้าและรอคิวนานกว่าจะได้รับประทานทั้ง ๆ ที่ขนมลาสามารถนำมาต่อยอดเป็นอาหารว่างได้ตลอดทั้งปี เช่น ขนมลากรอบ ขนมลาหน้าหมูหย็อง และขนมลาอบสมุนไพร เป็นต้น 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์สมุนไพรบ้านนก อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงก่อตั้ง “โครงการพัฒนาอาชีพ เพื่อสืบสานขนมประเพณีสารทเดือนสิบ” ขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งทอดภูมิปัญญาด้านการผลิตขนมประเพณีสารทเดือนสิบ จากผู้สูงอายุสู่คนรุ่นหลัง เพื่อส่งเสริมอาชีพภายในชุมชน และรักษาประเพณีท้องถิ่นให้สืบต่อไป โดยตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 50 คน จากพื้นที่อำเภอระโนดจำนวน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ่อตรุ ตำบลวัดสน ตำบลพังยาง และตำบลระวะ

แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะมีทักษะด้านการผลิตบ้างแล้ว แต่คณะทำงานพบว่า น้ำตาโตนดที่ใช้ในการผลิตขนมของแต่ละพื้นที่มีความหวานไม่แน่นอน อีกทั้งแต่ละชุมชนยังมีวิธีผลิตที่ต่างกัน บางแห่งใส่แป้ง บางแห่งใส่น้ำลงไปด้วย ทำให้เนื้อขนมร่วนซุยเมื่อเย็นตัว เก็บได้ไม่นาน นำไปแปรรูปต่อเพื่อเพิ่มมูลค่าไม่ได้ จึงต้องเซตมาตรฐานด้านการผลิตให้คงที่ ภายใต้การร่วมมือจากสถาบันอาหารต่าง ๆ

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตขนมดังกล่าวยังใช้แรงงานคนผสมแป้งอยู่ ทำให้ผลิตไม่ทัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่กลุ่มเป้าหมายไม่มีอุปกรณ์ทุ่นแรง เช่น เครื่องกวนแป้งและเตาอบ คณะทำงานจึงเข้ามาสนับสนุนปัจจัยการผลิตดังกล่าว ควบคู่กับการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ ประกอบกับการอบรมถ่ายภาพและวิดีโอเพื่อส่งเสริมการขาย ผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กและสื่อสังคมต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก I GO Organizer ในด้านนี้

ทั้งนี้ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ นอกจากจะสามารถพัฒนาขนมประเพณีสารทเดือนสิบให้มีคุณภาพ และสืบทอดภูมิปัญญาด้านการผลิตสู่คนรุ่นหลังได้แล้ว ยังจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นการพลิกวิกฤติเศรษฐกิจให้เป็นโอกาส สำหรับแรงงานนอกระบบ หรือผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นอกจากจะสามารถพัฒนาขนมประเพณีสารทเดือนสิบให้มีคุณภาพ และสืบทอดภูมิปัญญาด้านการผลิตสู่คนรุ่นหลังได้แล้ว ยังจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่กลุ่มเป้าหมายด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพ เพื่อสืบสานขนมประเพณีสารทเดือนสิบ

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนศูนย์สมุนไพรบ้านนก จังหวัดสงขลา

จังหวัด

สงขลา

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ดร.อภิรรณ์ ดำแสงสวัสดิ์
โทร: 094-6617987

เป้าประสงค์โครงการ

ทางกลุ่มได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และมีขนมของกลุ่มขายในตลอดออนไลน์และร้านขายของฝาก ในทุกช่วงเวลานอกเหนือจากเทศกาล โดยที่มีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดขนมประเพณีสารทเดือนสิบ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส