ศูนย์การศึกษานอกระบบอำเภอภูซาง ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอท้องถิ่น ภายใต้ตราสินค้า ‘ผ้าภูซาง’ เพื่อผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของกลุ่มสตรีในชุมชน เพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืน

พะเยา อื่น ๆ

อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นเมืองโบราณที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 900 ปี มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะการทอผ้าที่หลากหลาย ส่งผลให้ในปัจจุบันเกิดกลุ่มทอผ้าเป็นจำนวนมากในพื้นที่แห่งนี้ อาทิ กลุ่มทอผ้าฝ้ายทอมือ กลุ่มผ้าปักม้ง กลุ่มผ้าเขียนเทียน กลุ่มผ้าด้นมือ และกลุ่มผ้าทอไทลื้อ โดยแต่ละกลุ่มล้วนมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นต้นทุนของชุมชน โดยวัตถุดิบที่นำมาผลิตผ้าแต่ละชนิด จะใช้เฉพาะวัตถุดิบที่สามารถหาได้ในชุมชนเท่านั้น ส่งผลให้มีราคาต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก 

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการรวมกลุ่มกัน ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพ และไม่สามารถรวมกลุ่มผลิตสินค้าได้เหมือนเดิม ทำให้สมาชิกในกลุ่มผ้าทอต่างๆ มีรายได้ลดลง 

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอภูซาง ซึ่งมีพันธกิจในการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่งคั่งและมั่นคง จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้า ภายใต้ตราสินค้า ‘ผ้าภูซาง’” เพื่อสร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานอย่างมีคุณภาพ ก่อเกิดการรวมกลุ่มของอาชีพด้านการผลิตผ้าทอของสตรีในอำเภอภูซางในปลายทางสุดท้าย 

โดยโครงการได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ที่จำนวน 75 คน จากพื้นที่อำเภอภูซาง ซึ่งเป็นกลุ่มสตรีที่มีศักยภาพด้านการผลิตผ้าทอที่แตกต่างกัน ตามบริบทของวิถีชีวิตและชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มสตรีในพื้นที่ตำบลสบบง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ซึ่งชาวไทลื้อจะมีเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนในเรื่องของการแต่งกายที่ชัดเจน โดยจะเน้นเสื้อผ้าที่ทอเองกับมือ ในขณะที่กลุ่มสตรีในพื้นที่ตำบลเชียงแรง ก็จะมีชื่อเสียงด้านการแปรรูปผ้า และมีร้านค้าที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอเป็นหลักแหล่งอยู่แล้ว หรือกลุ่มสตรีในพื้นที่ตำบลทุ่งกล้วย ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งอยู่ถึง 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านคอดยาวและหมู่บ้านใหม่รุ่งทวี โดยสตรีชาวม้งล้วนมีความรู้และทักษะในการปักผ้าม้งและการทำผ้าเขียนเทียน เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนกลุ่มสตรีในพื้นที่ตำบลป่าสัก ที่ผู้ชายในชุมชนส่วนใหญ่นิยมทำการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกยางพารา ทำให้กลุ่มสตรีในพื้นที่มีเวลาในการทอผ้าหรืออาชีพเสริมต่างๆ มากขึ้น ก็มีการตกแต่งลวดลายผ้าด้วยการด้นมือเป็นเอกลักษณ์

ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะมีทักษะและองค์ความรู้ด้านการทอผ้ากันอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านที่ต้องได้รับการพัฒนาและต่อยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมและความร่วมสมัย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอของอำเภอภูซางเป็นที่ต้องการของตลาด ภายใต้ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นในการให้ข้อมูลและคำแนะนำ

นอกจากนี้ โครงการยังมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การนำความหลากหลายของกลุ่มผ้าทอต่างๆ มาผนวกรวมกัน ภายใต้ตราสินค้า ‘ผ้าภูซาง’ เพื่อเป็นการผลักดันขีดความสามารถของกลุ่มเป้าหมาย จากที่เดิมทีแยกกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน ให้มีปฏิสัมพันธ์ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำมากขึ้น โดยใช้การรวมกลุ่มของคนในชุมชนมาเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ต่างๆ ระหว่างกัน

ซึ่งหากโครงการฯ นี้ประสบความสำเร็จ การถอดบทเรียนจากการดำเนินโครงการฯ จะสามารถนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เกิดการประยุกต์เอาภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังสอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนมากที่สุด

 

“โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้า ภายใต้ตราสินค้า ‘ผ้าภูซาง’” เพื่อสร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานอย่างมีคุณภาพ ก่อเกิดการรวมกลุ่มของอาชีพด้านการผลิตผ้าทอของสตรีในอำเภอภูซางในปลายทางสุดท้าย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้า ภายใต้ตราสินค้า ‘ผ้าภูซาง’

ชื่อหน่วยงาน

กศน. อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

จังหวัด

พะเยา

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางเหมือนฝัน ยองเพชร
โทร: 097-924-2728

เป้าประสงค์โครงการ

  1. สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนา และยกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
  2. กลุ่มเป้าหมายมีทักษะในการที่จะนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว
  3. สามารถสร้างรายได้ผ่านการบริหารจัดการตลาดที่หลากหลาย
  4. เกิดการรวมกลุ่มของอาชีพการผลิตผ้าของสตรีในอำเภอภูซาง

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส