เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดสตูล พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ให้สอดรับกับระบบตลาดออนไลน์ แก้ปัญหาผูกขาดพ่อค้าคนกลางและโควิด-19
ผู้คนแถบชายฝั่งจังหวัดสตูลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง จับสัตว์น้ำขายด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งกุ้ง ปู ปลา และหมึก ขึ้นอยู่กับแต่ละฤดูกาล สมัยก่อนเมื่อชาวประมงจับสัตว์น้ำได้ มักนำไปขายให้เถ้าแก่ในชุมชน ซึ่งจะถูกกดราคา เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากชาวประมงมักติดหนี้เถ้าแก่ จากการกู้เงินไปลงทุนซื้อเครื่องมือทำประมง จึงต้องนำสัตว์น้ำมาขายแล้วหักหนี้ไปทีละน้อย
ต่อมา มีชาวประมงหลายกลุ่มจากหลายชุมชนคิดที่จะปลดแอกตัวเองจากนายทุนอย่างเถ้าแก่ หันมารวมกลุ่มเป็นแพรับซื้อสัตว์น้ำเอง มีการกำหนดราคารับซื้อสัตว์น้ำอย่างยุติธรรม มีการแบ่งผลกำไรให้กับสมาชิก โดยเน้นการทำประมงด้วยเครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง รวมถึง สนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และปลูกป่าชายเลนอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรวมกลุ่มจะช่วยให้ชาวประมงขายสินค้าในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น แต่ระบบตลาดของกลุ่มดังกล่าว ยังผูกขาดกับการขายส่งสินค้าให้กับบริษัทเอกชน ไม่เพียงเท่านั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้วิกฤติด้านราคาสัตว์น้ำย่ำแย่ลงอีก จนชาวประมงหลายกลุ่มต้องปิดแพรับซื้อสัตว์น้ำ และยอมขายในราคาที่ถูกลงครึ่งหนึ่ง
จากปัญหาดังกล่าว มูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี จังหวัดสตูล จึงจัดทำ ‘โครงการพัฒนานวัตกรรม Platform สินค้าชุมชนในเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดสตูล’ ขึ้น เพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่สำหรับการยกระดับสินค้า จากที่ขายวัตถุดิบสดจากทะเลแต่เพียงอย่างเดียว สู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นและตรงกับความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภค
เบื้องต้น คณะทำงานตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 50 คน จากพื้นที่อำเภอละงูและอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ซึ่งกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ว่างงาน แรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุ หญิงหม้าย และคนพิการ ซึ่งบางคนถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีรายได้
สำหรับการดำเนินงานของโครงการฯ เริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลสินค้าเด่น ๆ จากกลุ่มแพรับซื้อสัตว์น้ำต่าง ๆ ทั้งวัตถุดิบสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อนำมายกระดับและเพิ่มมูลค่าให้สินค้า รวมไปถึงการเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบขนส่งว่าต้องทำอย่างไรจึงสามารถส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้โดยที่ผลิตภัณฑ์ไม่เน่าเสีย ผ่านความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล และร้านคนจับปลา
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากโลกในปัจจุบันเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี ผู้บริโภคนิยมจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ ประกอบกับนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้การซื้อของโดยที่ไม่ต้องออกจากบ้านได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการสินค้าที่สามารถส่งถึงหน้าประตูบ้าน ผ่านการสั่งซื้อด้วยปลายนิ้วสัมผัส ระบบตลาดออนไลน์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขยายตลาดให้กลุ่มเป้าหมายได้ โดยมีหุ่นไล่กากรุ๊ปเป็นองค์กรหลักที่ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านนี้
ทั้งนี้ หากโครงนี้ประสบความสำเร็จ จะช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังของชาวประมงในจังหวัดสตูลได้ เพราะเป็นโครงการที่ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถตั้งราคาสินค้าที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับคุณภาพได้ รวมถึงยังเป็นการตัดปัญหาเรื่องการผูกขาดจากพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อกับผู้บริโภคได้โดยตรง ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
มูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี จัดทำโครงการนี้ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อยกระดับสินค้า จากที่ขายวัตถุดิบสดจากทะเลสู่การการแปรรูปให้จำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
แท็ก:
เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดสตูล พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ให้สอดรับกับระบบตลาดออนไลน์ แก้ปัญหาผูกขาดพ่อค้าคนกลางและโควิด-19 ปลดแอกตัวเองจากนายทุน สนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และปลูกป่าชายเลนอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน โครงการพัฒนานวัตกรรม Platform สินค้าชุมชนในเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดสตูลแชร์:
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนานวัตกรรม Platform สินค้าชุมชนในเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดสตูล
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- ได้ฐานข้อมูลสินค้าประมงพื้นบ้านของแต่ละกลุ่มตามฤดูกาล สามารถวางแผนการผลิตสินค้าได้
- มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีมาตรฐาน
- กลไกสามารถบริหารจัดการสินค้าชุมชนประมงพื้นบ้านได้
- เกิดระบบ Platform ทางการตลาดของสินค้า และช่องทางการตลาดอื่นๆ ที่หลากหลาย