มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ชูเปลือกทุเรียนเงินล้าน สร้างกระถางชีวภาพนำรายได้เข้าสู่ตำบลแม่พูล จังหวัดอุตรดิตถ์

อุตรดิตถ์ งานหัตถกรรมและฝีมือ

การนำสิ่งของหรือสิ่งรอบตัวกลับมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นหลักการที่ช่วยลดขยะ ลดโลกร้อนและลดรายจ่าย ช่วยให้ของหนึ่งสิ่งถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า โดยหลักการนี้นอกจากจะสร้างสังคมที่ดีขึ้นแล้วยังสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของคนอีกด้วย

ตำบลแม่พลู อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยพวกเขานิยมทุเรียน ลางสาด ลองกอง ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก คือการที่ผลไม้เหล่านั้นกลายเป็นขยะอินทรีย์ โดยเฉพาะเปลือกทุเรียน 

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าประสงค์สำคัญ ได้แก่ การคำนึงถึงเรื่องการลดปริมาณขยะในชุมชน ผ่านการนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืนผ่านการบูรณาการความรู้ควบคู่กับการทำงานเชิงพื้นที่ จึงได้นำเปลือกทุเรียนที่ชุมชนเหลือทิ้งมาสร้างรายได้ ผ่านการร่วมมือกับเทศบาลตำบลแปรรูปเปลือกทุเรียนที่ไม่มีประโยชน์มาเป็นกระถางชีวภาพจากเปลือกทุเรียน ซึ่งสามารถช่วยลดขยะในพื้นที่ได้ถึง 2-3 ตันต่อวัน กล่าวคือ เปลือกทุเรียนจำนวน 25 กิโลกรัมสามารถผลิตกระถางได้ 3 ใบ และในหนึ่งวันชาวบ้านสามารถผลิตกระถางได้ประมาณ 30 ใบ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชุมชนยังขาดคือองค์ความรู้ด้านการจัดการตลาดออนไลน์ การสร้างแบรนด์สินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อการขาย โครงการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อผลิตกระถางชีวภาพเปลือกทุเรียนสู่การสร้างรายได้ในพื้นที่ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในการผลิตกระถางชีวภาพเปลือกทุเรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ การพัฒนาด้านองค์ความรู้ทั้งหมด เพื่อให้จุดแข็งของชุมชนมีความยิ่งกว่าเดิมทั้งทางด้านวัตถุดิบ เครื่องมือ ภูมิปัญญา รวมถึงที่สำคัญที่สุดคือใจของคนในชุมชนที่อยากจะพัฒนาอาชีพจากต้นทุนที่มีอยู่นี้ให้เห็นผลมากที่สุด

โดยเบื้องต้น ทางโครงการฯ ได้คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อโคโรน่า 2019 และผู้ขาดรายได้ในพื้นที่ เป็นหลัก จากนั้นจึงได้ออกแบบหลักสูตรต่างๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น การอบรมกระบวนการผลิตกระถางชีวภาพ การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การอบรมการทำธุรกิจและตลาดออนไลน์ การให้ความรู้เรื่องการเงินและทักษะการทำงานเป็นทีม เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด 

และหากทุกกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ของโครงการฯ ประสบความสำเร็จ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง จะส่งผลให้คนในชุมชนสามารถเป็นผู้ประกอบการการผลิตกระถางชีวภาพจากเปลือกทุเรียนได้ตามมาตรฐานสินค้าที่ตลาดต้องการ สามารถนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายที่ร้านของฝากหรือขายผ่านช่องทางออนไลน์เองได้ เกิดคู่มือการพัฒนาทักษะอาชีพผลิตภัณฑ์กระถางชีวภาพเปลือกทุเรียน และต่อยอด ส่งต่อความรู้อย่างเป็นแบบแผนสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่หรือสามารถแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจได้ต่อไปในอนาคต และยังไม่รวมถึงการเกิดกลุ่มอาชีพผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กระถางปลูกต้นไม้ชีวภาพจากเปลือกทุเรียนขึ้นโดยเฉพาะ

สิ่งเหล่านี้คือหมุดหมายสำคัญและเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า หากสิ้นสุดโครงการฯ แล้ว คนในพื้นที่จะยังมีกลุ่มอาชีพนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คำปรึกษา ส่งต่อความรู้และสะท้อนสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้

เพราะชุมชนมีจุดแข็งอยู่ที่ความพร้อมทั้งทางด้านวัตถุดิบ เครื่องมือ ภูมิปัญญาและที่สำคัญที่สุดคือใจของคนในชุมชนที่อยากจะพัฒนาอาชีพจากต้นทุนที่มีอยู่นี้ให้เห็นผลมากที่สุด

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อผลิตกระถางชีวภาพเปลือกทุเรียนสู่การสร้างรายได้ในพื้นที่ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ชื่อหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

จังหวัด

อุตรดิตถ์

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า
โทร: 08 1972 2882

เป้าประสงค์โครงการ

เพื่อพัฒนาทักษะให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อโคโรน่า 2019 (โควิด 19) ได้มีองค์ความรู้นำความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนาอาชีพไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้เกิดอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาเป็นผลผลิตภัณฑ์กระถางชีวภาพจากเปลือกทุเรียน เป็นผลลัพธ์เด่นของชุมชนได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส