เปลี่ยนอดีตนักโทษให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

เปลี่ยนอดีตนักโทษให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่! ด้วยการเปิดคอร์สอบรมทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ในทัณฑสถานฯ ลำปาง

ลำปาง ผู้ประกอบการ

ถึงแม้ว่าจะดีขึ้นกว่าในสมัยก่อน แต่ภาพลักษณ์ของ ‘อดีตนักโทษ’ ยังคงเป็นภาพลบสำหรับหลายคนในสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาพลบนี้ก็คือ ความยากลำบากในการหางานหลังจากที่พวกเขาได้พ้นโทษออกมาสู่สังคมแล้ว

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาของนักโทษมายาวนาน จึงเกิดแนวคิดที่น่าสนใจขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า แล้วทำไมเราไม่ฝึกฝนให้นักโทษเหล่านี้ให้มีทักษะความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเองไปเสียเลยล่ะ?

จึงเกิดเป็นความร่วมมือของสองหน่วยงาน นั้นคือมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางและกรมราชทัณฑ์ ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้ถือว่าสอดคล้องกับแผนแม่บทของกรมราชทัณฑ์ที่มีระบุไว้ว่า

“กรมราชทัณฑ์ มีภารกิจในการควบคุมผู้ต้องขัง โดยมุ่งพัฒนาให้เป็นองค์กรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นพลเมืองดี มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพที่สุจริตและสามารถดำรงชีวิตในสังคมภายนอกได้อย่างปกติโดยสังคมให้การยอมรับ”

การร่วมมือกับทำภารกิจนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่นักโทษต้องการมากที่สุดคือการกลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้ตามปกติและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การถูกคุมขังเป็นเวลานานมักจะทำให้พวกเขาขาดทักษะการดำรงชีวิตในสังคม หน้าที่ของเรือนจำในการพัฒนาและฟื้นฟูผู้ต้องขังจึงหมายความถึงการฝึกฝนทักษะอาชีพ การให้คำแนะนำและคำปรึกษา ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมให้กับผู้ต้องขังในการกลับเข้ามาอยู่ในสังคมอย่างคนปกติทั่วไป

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประสิทธิภาพในการอบรมทักษะอาชีพให้กับบุคลากรระหว่างต้องโทษยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ทั้งในด้านของการที่ทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน การขาดโอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่ทันสมัย และปัญหาด้านจิตใจของตัวผู้พ้นโทษเองด้วยที่มักจะขาดความมั่นใจในการประกอบอาชีพ

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางซึ่งทำงานร่วมกับทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปางมาเป็นเวลานาน จึงได้เกิดไอเดียในการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้กับเรือนจำผ่าน ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ของผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง’ ที่จะเป็นโครงการซึ่งทางราชภัฏฯ ยื่นมือเข้ามาแบ่งปันองค์ความรู้จากสาขาวิชาการที่ทันสมัยและเป็นที่ต้องการของตลาด

ตัวอย่างสาขาวิชาที่จะเปิดสอนให้กับผู้ต้องขังมีความหลากหลาย เช่น สาขาวิชาการจัดการธุรกิจดิจิทัล สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิชาการเขียนแผนธุรกิจ การบัญชี การตลาดดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งทุกสาขาจะเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ มากไปกว่านั้น ตัวหลักสูตรยังตั้งเป้าหมายว่านักโทษทุกคนจะต้องสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในฐานะผู้ประกอบการอิสระ ที่สามารถคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ภายหลังจากการพ้นโทษไปแล้วได้

การนำองค์ความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้ของมหาวิทยาลัยไปแบ่งปันให้กับเหล่าผู้ต้องขังในเรือนจำ สุดท้ายแล้วนอกจากจะทำให้เขาได้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่แล้ว ยังเป็นการ ‘อัพเดต’ ให้พวกเขาได้เกิดความมั่นใจและเท่าทันโลกยุคปัจจุบัน จนมีทักษะและความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีทักษะชีวิตของคนในศตวรรษที่ 21

หลักการของเรือนจำคือการลงโทษ เพื่อให้ผู้ถูกลงโทษเกิดความสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนสามารถออกมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไปได้ เรือนจำจึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่คุมขังแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่สำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาและฟื้นฟูชีวิตของผู้ต้องขังทุกคนด้วย และเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง หลักสูตรในการฟื้นฟูและพัฒนาทักษะของผู้ต้องโทษก็จำเป็นที่จะต้องอัพเดตและปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยด้วยเช่นกัน ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็นผู้ประกอบการอิสระมากความสามารถ ที่เคยเป็นอดีตผู้ต้องโทษของทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปางก็เป็นได้

เปลี่ยนอดีตนักโทษให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ของผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง

ชื่อหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง

จังหวัด

ลำปาง

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวสุคนธ์ทิพย์ สุภาจันทร์
โทร: 089-9546359

เป้าประสงค์โครงการ

  1. สร้างโอกาสที่เสมอภาคให้ผู้ต้องขังให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
  2. ผู้ต้องขังมีศักยภาพ มีขีดความสามารถในการประกอบการธุรกิจยุคใหม่ สามารถนำความรู้ความเข้าใจการประกอบอาชีพไปแข่งขันการทำงานประกอบอาชีพ
  3. ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพอิสระ ที่สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
  4. ผู้ต้องขังที่เข้าโครงการมีทัศคติที่ดีต่ออาชีพการงานที่สุจริตที่มีคุณธรรม จริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคม มีแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ
  5. ผู้ต้องขังมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจประกอบการอาชีพอิสระที่สามารถสร้างรายได้หลังพ้นโทษ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส